2563-10-23

แอ่วเมืองแพร่ ชมบ่อเลี้ยงเตา บ้านนาคูหา แวะสักการะพระธาตุอินทร์แขวน

โควิด 19 แพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่ต้องถามว่าใครเป็นคนแพร่ แต่ที่แน่ๆ ภรรยาเป็นคนแพร่แน่นอน เพราะภรรยาเป็นชาววังฯ ชาวบ้านวังชิ้น ถิ่นส้มเขียวหวาน กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด 19 เริ่มผ่อนคลาย รัฐบาลปล่อยให้เดินทางไปต่างจังหวัดได้ ไม่ต้องกักตัว 14 วัน เหมือนพ้นโทษออกจากคุกโควิด ได้ออกต่างจังหวัดครั้งแรกในรอบหลายเดือน เลยถือโอกาสไปเมืองแพร่ก่อนเลย ไปเยี่ยมญาติชาววังฯ ที่ถูกโควิดขังอยู่แต่ในวังชิ้นเช่นกัน เลยถือโอกาสนี้ชวนชาววังฯ ออกไปเที่ยวอำเภอเมืองแพร่กันบ้าง

เมืองแพร่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมชุมชนมากมาย หลายที่หลายแห่งปรับตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ การพาคนแพร่เที่ยวเมืองแพร่ ที่เที่ยวเก่าๆ ก็ดูจะไม่เร้าใจ เลยลองเปิดหาจากแพลทฟอร์มใหม่ๆ ดูว่าวัยรุ่นเค้านิยมไปเช็คอินที่ไหนในโลกโซเชียล ในที่สุดก็ไปสะดุดใจกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงภูมิปัญญา ชนพื้นถิ่นร่วมพัฒนาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม โดยได้นำเอาสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่า “เตา” เอามาเพาะเลี้ยง สร้างแลนด์มาร์คเก๋ๆ ให้กับชุมชนบ้านนาคูหา แหล่งภูมิปัญญา ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองแพร่ 

นักท่องเที่ยว มองทุ่งนาป่าเขาเป็นที่ท่องเที่ยว แต่คนพื้นถิ่น มองว่าคือที่ทำงาน จะเรียกว่าสำนักงานหรือสถานประกอบการก็ได้ โดยออฟฟิศทางธรรมชาติแห่งนี้ ได้ก่อกำเนิดขุมทรัพย์ล้ำค่าให้ชาวบ้านนาคูหามานมนาน นั่นคือ “เตา” สาหร่ายน้ำจืด ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบที่ลงตัว น้ำที่ใสสะอาด อากาศ แสงแดดและอุณหภูมิที่พอเหมาะ แต่ก่อนเตาจะมีเฉพาะฤดูฝน แต่ด้วยภูมิปัญญาของชาวนาคูหา ช่วยกันสร้างเป็นบ่อเลี้ยงเตา โดยอาศัยตาน้ำจากป่าสมบูรณ์บนภูเขา สร้างผลผลิตเตาได้ตลอดทั้งปี


เตาสด สามารถเอาไปทำอาหารได้หลายชนิด อย่างตำเตา หรือเตาชุบไข่ทอด ตามวิถีชีวิตท้องถิ่นเดิม ต่อมาเมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นธุรกิจในการหารายได้ของชุมชน เตาก็ยังสามารถนำไปแปรรูป ทำเป็นข้าวเกรียบเตา กะละแมเตา หรือสบู่เตา ได้อีกด้วย การปรับตัวเพื่อทำมาหากินเลี้ยงชีวิต ไม่ได้ทำให้ไมตรีจิตหดหายไป แต่กลับกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน ส่งผลพลอยได้ให้วัดนาคูหาและพระธาตุอินแขวน ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน กลายเป็นจุดเช็คอินห้ามพลาดของนักเสพวิวงาม ท่ามกลางศรัทธาเนื้อนาบุญ


วัดนาคูหานอกจากเป็นศูนย์รวมศรัทธาญาติโยมแล้ว ยังเป็นแลนด์มาร์คสุดปัง พระเจ้าทันใจตั้งเด่นอยู่กลางทุ่งนา สะพานไม้ขัวแคร่ ผ่านนาข้าวและไร่ข้าวโพด ทอดยาวไปยังถ้ำผาสิงห์ ตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง งดงามชนะเลิศในทุกแพลทฟอร์ม แม้ว่าวันที่แวะไปอยู่ในระหว่างฝนทิ้งช่วง บรรยากาศถึงจะดูร้อนแห้งๆ ไปบ้าง แต่วัยรุ่นเมืองแพร่ก็ยังล้นหลาม ขี่มอเตอร์ไซค์ตามกันไปเป็นกลุ่ม บ้างก็หามุมสวยบนสะพานไม้ไผ่ บ้างก็ไปตะกายดอยถ้ำผาสิงห์ แอบดูหนุ่มสาวจูงมือกันปีนขึ้นผาสิงห์แล้ว ลุงรู้สึกตัวเองแก่ลงไปเยอะเลย 


ถ้ำใหญ่ ต้องปีนขึ้นดอยไป 100 เมตร ถ้ำน้อย 600 เมตร ผาสิงห์ 350 เมตร ใครอยากปีนไปถึงยอด ถึงจะจีบกันใหม่ ก็อย่าได้ห้าวไปตามลำพัง ระวังจะหลงป่า ให้แจ้งทางวัดหรือกรรมการหมู่บ้านทราบก่อน เผื่อจะจัดหาคนนำทางให้ ปีนผาสิงห์เสร็จอย่าเพิ่งรีบเหนื่อย ออกจากวัดนาคูหามา ขากลับให้เก็บแรงไว้เดินขึ้นบันได ไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง พระธาตุประจำปีสำหรับเกิดคนปีจอ ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ใครไม่ได้ไปไหว้ที่พม่า ให้มาไหว้ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาโพธิวงศาจริยาราม พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ ทดแทนกันได้ 


เด็กต่างจังหวัดจัดว่าโชคดี ที่ไม่ได้มีแค่ห้างสรรพสินค้าให้เที่ยวเหมือนเด็กเมืองกรุง วัยรุ่นภูธรมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สร้างสรรค์มากมาย ชุมชนบ้านนาคูหาแห่งนี้ จัดเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเมืองแพร่ เปรียบช้างเผือกต้องอยู่ในป่า ขุมทรัพย์อันเลอค่าคือแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ดังถ้อยวลีเปรยไว้ว่า ... “พระเจ้าตนหลวงศักดิ์สิทธิ์ งามวิจิตรพระธาตุอินแขวน ดินแดนต้นห้อมป่าต้นน้ำ เลิศล้ำ กาแฟ ชา เมี่ยง ลือเลื่อง สาหร่ายเตา ถ้ำภูเขา น้ำตกใส ผู้คนจิตใจงาม ลือนาม นาคูหา"


ไม่มีความคิดเห็น: