2563-07-03

คูเมืองยามศึก ใช้ป้องกันอริรานรุก ยามบ้านเมืองสงบสุข ใช้บุกเบิกความศิวิไลซ์ (คูเมือง 5)

(คูเมือง 2) (คูเมือง 3) (คูเมือง 4) (คูเมือง 6)

ปั่นจักรยานมาถึงแถวลานประตูท่าแพ แวะจอดสัมผัสความหลังครั้งยังเด็ก คูเมืองจุดที่เคยเล่นน้ำสงกรานต์เป็นประจำเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน นั่นคือตึกแถวห้องหัวมุม ปากซอยราชมรรคาซอย 2 ติดกับถนนมูลเมือง แต่ก่อนตึกแถว 4 ชั้นนี้คือ สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ สงกรานต์ทุกปีพี่ๆ นักข่าวจะเสียบก๊อกน้ำหน้าสำนักงาน จัดปาร์ตี้ปีใหม่เมืองกัน ห้องแถวติดกันคือร้านไนซ์สวีท ร้านขายเบเกอรี่ อาหารฝรั่ง ส่วนในซอยก็จะเต็มไปด้วยเกสต์เฮ้าส์ นำโดยสายตำเกสต์เฮาส์ที่ตั้งอยู่ปากซอย อีกฝั่งทางไปลานท่าแพ เต็มไปด้วยร้านค้าและบาร์ฝรั่ง 

ขณะนั้นประตูท่าแพยังไม่ได้สร้าง มีแต่ลานท่าแพ เป็นลานกว้างไว้จัดกิจกรรมของเทศบาล อาทิ การตักบาตรทำบุญในเช้าวันสงกรานต์ มีงานแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง งานกาดหมั้วขายของ แถวนี้จึงเต็มไปด้วยฝรั่งนักท่องเที่ยว และด้วยความที่เป็นเด็ก จึงมักถูกพี่ๆ ไล่ให้ไปสาดน้ำฝรั่งสาวๆ ที่เดินไปมา เพราะสาวฝรั่งนิยมโนบรา พี่ๆ หนุ่มๆ ไม่กล้าพอ รอแต่ให้กำลังใจ ให้เด็กไปสาดไม่น่าเกลียดเท่าไร แหม่มก็สนุกด้วยไม่ว่าอะไร สร้างความตื่นตาตื่นใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม ส่วนบาร์ฝรั่งข้างๆ ก็จัดปาร์ตีกันข้ามวันข้ามปี บางทีก็มีฝรั่งเมาอุ้มสาวบาร์ วิ่งข้ามถนนไปโยนลงคูเมือง เป็นสีสันอันน่าระทึกใจในวัยเด็ก

วัยที่เรายังตัวเล็ก ทุกอย่างจะดูยิ่งใหญ่เสมอ ถนนมูลเมืองดูกว้างมาก จะข้ามไปลานท่าแพต้องให้ผู้ใหญ่จูงข้ามถนน ข้ามมูลเมืองเสร็จ ต้องข้ามยูเทิร์นตรงป้อมตำรวจท่าแพอีก ยูเทิร์นนี้เป็นมุมอับอันตราย เกิดอุบัติเหตุบ่อย ปัจจุบันถูกปิดทำฟุตบาทไปแล้ว คูเมืองยามนั้นกว้างใหญ่เหลือใจ จะไปร้านอาหารอรุณไร ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามฟากถนนคชสาร ก็ดูแสนไกลคล้ายอยู่คนละฝั่งคลอง ทั้งที่ความกว้างคูเมืองเมื่อ 724 ปีก่อน คือ 18 เมตร แต่ปัจจุบันเหลือประมาณ 13 เมตร จากคูเมืองที่ใช้ป้องกันข้าศึกศัตรู เปลี่ยนมาเป็นคูเมืองที่ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองได้อย่างไร เรื่องนี้เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ราวร้อยกว่าปีมานี้เอง

ในรัชสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ช่วงปี พ.ศ.2413-2440 ลัทธิจักรวรรดินิยมแผ่อิทธิพลเข้ามาสู่ภูมิภาคอินโดจีน ประเทศราชล้านนาเป็นดินแดนทางภาคเหนือของสยามที่อังกฤษกำลังหมายปอง เชียงใหม่จึงได้สวามิภักดิ์รวมเป็นส่วนหนึ่งกับแผ่นดินสยาม ในรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นการรับประกันว่า ประเทศราชภาคเหนือเป็นดินแดนของสยาม อันเป็นการป้องกันการยึดครองของต่างชาติ จากนั้นก็ได้มีการปฏิรูปนครเชียงใหม่สู่มณฑลพายัพ ความเจริญจากเมืองกรุง พวยพุ่งเข้าสู่นครเชียงใหม่ ในฐานะนครหัวเมืองเหนือแห่งสยาม

ในปี พ.ศ. 2432 มีการจัดตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดตั้งกรมป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2439 ความศิวิไลซ์จากรถราที่ชาวเมืองเริ่มนำเข้ามาขับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถนนหนทางมีท่าทีว่าจะจำเป็นกว่าซากปรักหักพังของกำแพงเมืองที่ถูกทิ้งร้างเสียแล้ว เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพายัพ จึงได้หารือกับเจ้าอินทวิชยานนท์ เรื่องกำแพงเมืองทรุดโทรมเกินกว่าจะบูรณะ วัชพืชก็รกครึ้มปกคลุม บดบังทัศนียภาพบ้านเมือง เห็นควรจะทำการแผ้วถางรื้อกำแพงเมืองออก แล้วนำอิฐที่ถูกรื้อถอนไปประมูลขาย โดยเหลือไว้เพียงแจ่งเมืองทั้งสี่มุม

กำแพงเมืองจึงได้ถูก รื้อถอนออกไป คูเมืองก็ถูกถมให้แคบลง เพื่อขยายถนนให้รถราวิ่งไปมาได้สะดวก รองรับยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและสังคม มีการตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือ ขึ้นมาถึงเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 เมืองเชียงใหม่เติบโตขยับขยายขึ้นเรื่อยๆ จนราวปี พ.ศ. 2490 เทศบาลเมืองเชียงใหม่ได้มีการวางเส้นทางคมนาคมหลักในตัวเมืองเชียงใหม่ มีการปรับสร้างถนนสวยงามรอบคูเมือง พร้อมทั้งสร้างประตูเมืองขึ้นมาใหม่ 4 ประตูเพื่อเสริมทัศนียภาพของเมือง ภาพของคูเมืองในยุคนี้ จึงเริ่มใกล้เคียงกับคูเมืองในปัจจุบันเข้ามาทุกที เดี๋ยวจะมาเล่าเรื่องราวดีๆ ของประตูเมืองเชียงใหม่ในตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: