2563-05-07

ปั่นรถถีบ เล่าเรื่องเก่า ในวันที่คูเมืองเงียบเหงา เพราะเจ้าโควิด (คูเมือง 2)

(คูเมือง 1) (คูเมือง 3) (คูเมือง 4) (คูเมือง 5)


ใส่หมวกใส่แมสก์เรียบร้อย ค่อยลากรถถีบออกมาปั่น จากบ้านถนนสุเทพ หลัง มช. ปั่นรถถีบเข้าสู่คูเมืองบริเวณประตูสวนดอก น้อมจิตคารวะ พระญามังราย ผู้สร้างนครเชียงใหม่ ท่านได้วางผังการสร้างเมือง คล้ายกับสัดส่วนของมนุษย์ ประตูสวนดอกก็คือแขนขวา วนวันเวย์ตามเข็มนาฬิกา คูเมืองรอบนอก ก็จะไปเจอแจ่งหัวลิน เป็นไหล่ขวา ตรงไปจะเจอประตูช้างเผือก คือศีรษะ ตรงไปอีกจะเป็นแจ่งศรีภูมิ คือไหล่ซ้าย ตรงไปเป็นประตูท่าแพ คือแขนซ้าย เลยไปเป็นแจ่งขะต๊ำ เลี้ยวขวามาจะเป็นขาซ้าย คือประตูเชียงใหม่ ถัดไปคือขาขวา ประตูสวนปรุง วนกลับมาก็จะเจอแจ่งกู่เฮือง ครบ 4 แจ่ง 5 ประตู

คูเมืองเชียงใหม่มีสัณฐานเป็นสีเหลี่ยมผืนผ้า ด้านยาวของตัวคนคือ จากแจ่งกู่เฮือง ถึงแจ่งหัวลิน หรือ จากสามแยกสวนบวกหาดไปสี่แยกห้องสมุดประชาชน ยาว 1,600 เมตร มีประตูสวนดอกคั่นกลาง และด้านกว้าง จากแจ่งหัวลินถึงแจ่งศรีภูมิ หรือแยก รพ.เชียงใหม่ราม ไปวัดป่าเป้า ยาว 1,550 เมตร มีประตูช้างเผือกคั่นกลาง วันนี้เมื่อ 724 ปีก่อน 12 เมษายน 1839 หลังลงจอบแรกขุดคูเมืองเชียงใหม่ มีหลักฐานว่าคูเมืองมีความกว้าง 9 วา หรือราว 18 เมตร ปัจจุบันเหลือความกว้างอยู่ประมาณ 13 เมตร แต่ใครว่ายน้ำไม่แข็งอย่าริอ่านท้าทาย สงกรานต์ตายทุกปี โดยเฉพาะพวกขี้เมา


คูเมืองแม้จะแคบลง แต่แนวคูเมืองทั้งหมด ก็เป็นคูเมืองเดียวกันกับที่คนโบราณออกแรงขุด เมื่อ 724 ปีที่แล้ว จะมีก็แต่กำแพงเมือง แจ่งเมือง 4 มุม และประตูเมืองทั้ง 5 ที่ล่มสลายลงจากสงครามและกาลเวลา มีการบูรณะครั้งหนึ่งในสมัยพระเมืองแก้ว พ.ศ.2062 ต่อมา พ.ศ. 2101 พม่ารบชนะเชียงใหม่ ชาวบ้านโดนกวาดต้อนไป จนกลายเป็นเมืองร้าง นานถึง 200 กว่าปี ต่อมาสมัยกรุงธนบุรี ปี พ.ศ.2310 - 2325 พระเจ้ากาวิละได้ซ่องสุมไพร่พล พร้อมขอแรงทัพสยาม ช่วยขับไล่พม่าออกจากล้านนา สำเร็จแล้วจึงฟื้นฟูบ้านเมือง ซ่อมสร้างกำแพงเมืองขึ้นมาใหม่ ในช่วงปี พ.ศ.2325-2339 หรือราว 200 กว่าปีมานี้เอง

ช่วงเวลาซ่อมสร้างเมืองเชียงใหม่ เป็นช่วงเริ่มต้นของราชวงศ์จักรี หลังจากพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคต ในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงขึ้นครองราชย์ อีกฟากหนึ่งของโลก ยุโรปกำลังอยู่ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2332 - 2342 ช่วงนี้เองพระเจ้ากาวิละได้เร่งฟื้นฟูล้านนา เรียกยุคนี้ว่ายุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง พ.ศ. 2341 – 2356 ต่อมาไม่นาน ในปี พ.ศ. 2367 อังกฤษได้ทำสงครามกับพม่า พม่าใต้หรือมอญ ได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ตั้งแต่นั้นมากำแพงเมืองเชียงใหม่ ก็ไม่เคยรับมือศึกสงครามกับพม่าอีกเลย

จูงรถถีบขึ้นปั่นบนฟุตบาทริมคูเมือง จำได้ว่าเพิ่งสร้างใหม่ไม่กี่ปีนี้เอง สมัยวัยรุ่น ยังไม่มีพื้นกรวดล้าง ทรายล้าง ดีงามเหมือนปัจจุบัน พื้นออกแบบมาให้กันลื่นสำหรับเล่นน้ำสงกรานต์โดยแท้ แต่ก็ไม่ได้ทำมาให้ปั่นจักรยาน ดังนั้นต้องปั่นหลบต้นไม้ด้วยความตั้งใจ ถ้าพลาดพลั้งตกลงคูเมืองไปจะไม่ใช่แค่เจ็บตัว แต่กลัวจะอายจนต้องมุดคูเมืองหนี  ปั่นสวนกับผู้คนที่มาวิ่งออกกำลังกาย พอใกล้จะสวนกันทุกฝ่ายก็รีบดึงแมสก์มาสวม หน้ากากอนามัยกลายเป็นของสำคัญ ทั้งปกป้องสุขภาพกาย และเสริมความมั่นใจ ว่าแล้วค่อยมาไล่เรียงไทม์ไลน์กันดีกว่า ว่ากำแพงเมือง ที่เหลือให้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ สร้างขึ้นเมื่อไร ส่วนไหนสร้างก่อนกัน

ไม่มีความคิดเห็น: