(ไต้หวัน 4) (ไต้หวัน 5) (ไต้หวัน 6) (ไต้หวัน 8) (ไต้หวัน 9) (ไต้หวัน 10)
ท่ามกลางไฟร้อนของสงครามกลางเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ ราวปี พ.ศ. 2480 พรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่างโหมไฟรบ เพื่อต่อสู้แย่งชิงอำนาจเหนือประเทศจีนสงครามที่เดือดระอุ ส่งผลให้กองกำลังก๊กมินตั๋ง ทหารรัฐบาลชาตินิยมของเจียงไคเชก ได้ถอยร่นมาตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน พร้อมทั้งผู้อพยพชาวจีน กว่า 2 ล้านคน และได้สร้างที่พักอาศัยชั่วคราวขึ้นมา กระจายไปทั่วในหลายเมืองใหญ่ของไต้หวัน โดยเฉพาะเขตเมืองไทเป และเมืองจีหลง
หมู่บ้านซื่อซื่อหนันซุน หรือ 44 South Military Village เป็นหมู่บ้านทหารที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกๆ ในไทเป เริ่มจากบ้านไม้หลังเล็กๆ ผนังไม้ไผ่ หลังคามุงฟาง หรือกระเบื้องราคาถูก พร้อมบังเกอร์หลุมหลบภัย เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวจากนั้นก็อยู่กันเรื่อยมาเป็น 10 ปี เริ่มมีการก่ออิฐ ผนังปูน หลังคามุงกระเบื้อง พร้อมสาธารณูปโภค ต่างๆ จนกลายเป็นการตั้งถิ่นฐานถาวร ทหารก๊กมินตั๋ง ซึ่งกลายมาเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านทหาร พากันเรียกที่นี่ว่าเป็น “บ้าน” ของพวกเขา
50 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ราวปี พ.ศ. 2530 มีชาวบ้าน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านทหารแห่งนี้ เกือบ 900 ครัวเรือน รอยร้าวที่ปรากฏ คือ การย้ายถิ่นฐานแรงงาน พลเมืองพลัดถิ่น รวมถึงชุมชนแออัด ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันเนืองๆ ระหว่างชาวบ้านผู้อยู่อาศัย และรัฐบาลไต้หวัน ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ดินและทรัพย์สินรัฐบาลไต้หวัน ได้พยายามโน้มน้าวให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ โดยการสร้างหมู่บ้านทหารขึ้นมาใหม่ แล้วรุกคืบพัฒนาที่ดิน นำตึกสูงและความเจริญต่างๆ เข้ามาแทนที่ รื้อถอนทำลายบ้านเรือนบางส่วนออกไป ทำให้เหลือชาวบ้านอาศัยอยู่เพียง 100 กว่าครัวเรือน
หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2542 หมู่บ้านทหารได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้น พอควันไฟจางรัฐบาลประกาศจะรื้อซากปรักหักพังทิ้งทั้งหมู่บ้าน แต่ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากชาวบ้านและบรรดานักอนุรักษ์ พื้นที่ของหมู่บ้านที่เหลือรอดจากไฟไหม้ จึงถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมอาคารเก่าที่เหลือรอดจากไฟไหม้ ได้รับการดัดแปลงให้เป็นแกลอรี่ สวนสาธารณะ คาเฟ่ ร้านอาหาร รวมทั้งพื้นที่เปิดโล่งสำหรับจัดงานอีเว้นท์ และนิทรรศการต่างๆ และหมู่บ้านซื่อซื่อหนันซุน ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “อาคารประวัติศาสตร์” ของไต้หวัน อย่างเป็นทางการ
นอกจากจะมีจุดชมวิวถ่ายรูปสวยๆ คู่กับตึกไทเป 101 แล้ว ยามค่ำคืน ยังมีการฉายสไลด์ ศิลปะร่วมสมัย สะท้อนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แห่งการหลอมรวมประเทศ กลมกลืนกับฉากสีหม่นๆ ของผนังปูนเก่าๆ ตัดกับสีสดใสของประตู หน้าต่าง เอาไว้ให้คนได้มาสัมผัสบรรยากาศความเป็นอยู่ของทหารก๊กมินตั๋ง เมื่อ 80 กว่าปีก่อน
แชะภาพไฟสวยๆ ตึกไทเป 101 ท่ามกลางบรรยากาศ อาคารเก่า บังเกอร์หลุมหลบภัย บรรยากาศชวนให้คิดว่าทำไมทหารก๊กมินตั๋ง และผู้อพยพชาวจีนแผ่นดินใหญ่ หลายล้านคน จึงได้อพยพติดตาม "เจียง ไคเชก" ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง มาเป็นชาวหมู่บ้านทหาร 44 South Military Village ที่เกาะไต้หวันเจียง ไคเชก เปรียบดังประธานาธิปดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน ที่ทำให้ทั่วโลก รู้จักกับประเทศไต้หวัน ถ้าอยากรู้จักกับเค้าให้เยอะขึ้น ก่อนจะกลับจากสถานีไทเป 101 ไปซีเหมินติง นั่งรถไฟฟ้าสายสีแดง กลับไปเปลี่ยนสายสีเขียวที่สถานีเจียงไคเชก เราก็แวะขึ้นไปเดินเที่ยวชมอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก สักหน่อยจะเป็นไร
(ไต้หวัน 4) (ไต้หวัน 5) (ไต้หวัน 6) (ไต้หวัน 8) (ไต้หวัน 9) (ไต้หวัน 10)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น