2567-12-19

ซุ้มประตู Liberty Square จัตุรัสแห่งเสรีภาพ ของผองเพื่อนเสรีชน (ไต้หวัน 8)

(ไต้หวัน 5) (ไต้หวัน 6) (ไต้หวัน 7) (ไต้หวัน 9) (ไต้หวัน 10)

จากตึกไทเป 101 ก่อนจะกลับไปซีเหมินติง ต้องนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดง ไปเปลี่ยนเป็นสายสีเขียวที่สถานีเจียงไคเชก ไหนๆ ก็กำลังดื่มด่ำกับกลิ่นอายอดีต ที่หมู่บ้านทหาร 44 South Military Village ได้ที่ เพื่อไม่ให้ขาดตอน ก็ขอขึ้นไปชื่นชมอนุสรณ์สถานเจียง ไคเชก กันสักหน่อย ให้มันต่อเนื่องรอยอารมณ์ คนไต้หวันกันไปเลย

อนุสรณ์สถานเจียง ไคเชก สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงอดีตประธานาธิบดี เจียง ไคเชก ด้านหน้าลานกว้างมีซุ้มประตู สูง 30 เมตร กว้าง 80 เมตร สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงินไพลิน มีตัวอักษร 4 ตัวเขียนว่า自由廣場 หมายถึง Liberty Square หรือ “จัตุรัสแห่งเสรีภาพ”

ทว่าแรกเริ่มเดิมทีปีที่สร้าง 2519 ไม่ได้เขียนอย่างนี้นะ เค้าจารึกไว้ว่า 大中至正 เพื่อสรรเสริญอดีตผู้นำ เจียง ไคเชก แต่ต่อมาลานจัตุรัสแห่งนี้ ถูกประชาชนใช้เป็นสถานที่ชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้งหลายครา ในปี 2550 ก็เลยเปลี่ยนคำจารึกใหม่ เป็น Liberty Square เสียเลย

การแสดงออกทางการเมือง เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย อย่างบ้านเรามักไปเคลื่อนไหวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือไม่ก็สนามหลวง ไต้หวันก็เช่นกัน การแสดงออกทางการเมืองหลายครั้ง ได้เกิดขึ้นที่ลานอนุสรณ์สถาน หรือจัตุรัสแห่งเสรีภาพแห่งนี้ 

โดยก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกกฎอัยการศึก ในปี 2530 คนที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล อาจโดนยัดข้อหากบฏ หรือคอมมิวนิสต์ได้ง่ายๆ จนกระทั่งในปี 2533 ลานอนุสรณ์สถานเจียง ไคเชก แห่งนี้ ได้มีการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้น เริ่มจากกลุ่มนักศึกษาเพียงไม่กี่คน จนมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

การเคลื่อนไหวของดอกลิลลี่ป่า Wild Lily Student Movement นับเป็นการชุมนุมครั้งแรกในไต้หวันนับตั้งแต่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ข้ามฝั่งทะเลมาจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นบนเกาะแห่งนี้  โดยใช้ดอกลิลลี่ป่า ดอกไม้สีขาวพันธุ์พื้นเมือง เป็นสื่อสัญลักษณ์แทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เป็นคนรากหญ้าของไต้หวัน

ดอกลิลลี่ป่าที่ผลิบาน ได้ปูทางให้ไต้หวันมีการเลือกตั้งทางตรง ทั้งผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดี เพราะก่อนหน้านั้น ไต้หวันไม่เคยมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ผู้ลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดี นายหลี่เติงฮุย ก็มาจากพรรคก๊กมินตั๋ง เก้าอี้ในสภาส่วนใหญ่ก็เป็นคนของพรรคก๊กมินตั๋ง 

แล้วความพยายามของดอกลิลลี่ป่า ก็สัมฤทธิผล แม้ว่านายหลี่เติงฮุย จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่หลังจากนั้น นายหลี่ก็ได้จัดการประชุมระดับชาติ ตามสัญญาที่ให้ไว้กับกลุ่มนักศึกษา จนนำไปสู่การปิดฉากของสภาหมื่นปี หรือรัฐสภาแบบเดิม ที่ต่ออายุสมาชิกสภาได้ไม่รู้จบ 

รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดี ของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ในที่ประชุมฯ ก็เป็นต้นกำเนิดของการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงอย่างเป็นทางการ

อนุสรณ์สถานเจียงไคเชก ได้กลายเป็นสถานที่แสดงออกทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวดอกหญ้า Silver grass Movement ปี 2540การเคลื่อนไหวสตรอเบอร์รีป่า Wild Strawberry Movement ปี 2550 และการเคลื่อนไหวดอกทานตะวัน Sunflower Movement ปี 2557

ครั้งหนึ่งรัฐบาลพรรค DPP เคยเปลี่ยนชื่ออนุสรณ์สถานเจียง ไคเชก National Chiang Kai-shek Memorial Hall เป็น อนุสรณ์สถานประชาธิปไตย National Taiwan Democracy Memorial Hall แต่ก็ได้แค่ปีเดียว พอพรรคก๊กมินตั๋งชนะเลือกตั้ง ก็เปลี่ยนกลับเป็น อนุสรณ์สถานเจียงไคเชกเหมือนเดิม 

ส่วนบนซุ้มประตู ยังคงจารึก 自由廣場 Liberty Square จัตุรัสแห่งเสรีภาพ มาจนถึงทุกวันนี้

เพียงแค่เดินผ่านซุ้มประตู ยังสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายประชาธิปไตย และความยิ่งใหญ่ของอนุสรณ์สถาน เจียง ไคเชก แวะกินชานมไข่มุก ร้านชุนฉุ่ยถัง Chun Shui Tang ที่อยู่ชั้นล่างอาคาร National Concert Hall ข้างลานอนุสรณ์สถานเจียง ไคเชก ก่อนนะ มีเรื่องน่าสนใจอยากเล่าให้ฟังอีกมากมาย


ไม่มีความคิดเห็น: