(ไต้หวัน 6) (ไต้หวัน 7) (ไต้หวัน 8) (ไต้หวัน 10)
เดินตรงไปตามทาง Democracy Boulevard จะเห็นหออนุสรณ์สถานฯ เป็นอาคารทรงจีนโบราณ บันไดหินอ่อนทางขึ้นทั้งสี่ด้านสีขาว ตัดกับหลังคาสีน้ำเงิน สวนหย่อมเน้นปลูกดอกไม้สีแดง ตามแนวคิดสีของธงชาติไต้หวัน “ท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง ปฐพีแดง แผ่นดินอุดม” "Blue Sky, White Sun, and a Wholly Red Earth"
ภายในหออนุสรณ์สถานฯ ชั้นบนจะเป็นรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ของ เจียง ไคเชก ส่วนชั้นล่างเป็นห้องจัดแสดงประวัติ ภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งบทบาทหน้าที่ ในฐานะผู้นำแห่งสาธารณรัฐจีน และประธานาธิบดีคนแรก ของประเทศไต้หวัน
เจียง ไคเชก มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ทั้งจีนและไต้หวัน ครั้งหนึ่งในปี 2488 ภาพเหมือนของเจียง ไคเชก เคยถูกประดับอยู่หน้าประตูเทียนอันเหมิน ในฐานะผู้นำรัฐบาลชาตินิยม ที่พาประเทศจีนมีชัยชนะสงครามญี่ปุ่น จนในปี 2492 เจียงพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงได้เปลี่ยนมาเป็นภาพ เหมา เจ๋อตุง ดังที่เห็นในปัจจุบันโดยก่อนหน้านั้น เหนือประตูเทียนอันเหมิน เป็นภาพของ ซุน ยัตเซ็น ผู้นำรัฐบาลแห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งมีนายพลเจียง ไคเชก ลูกน้องคนสนิท เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน นำกองกำลังเอาชนะกลุ่มพันธมิตรพรรคต่างๆ และรวมชาติจีนให้อยู่ภายใต้รัฐบาลชาตินิยมใหม่ได้สำเร็จ
ดร. ซุน ยัตเซ็น เสียชีวิตลงในปี 2468 นายพลเจียง ไคเชก จอมพลสูงสุด และอธิบดีทั่วไปของพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ขึ้นปกครองประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2471 โดยตลอดสองทศวรรษของรัฐบาลเจียง เขาได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง ในฐานะประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนหลายครั้ง แต่ก็มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในจีนหลายครั้งเช่นกัน
หลายกลุ่มต่อต้านการปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง นายพลเจียง ไคเชก ได้ประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึก ปราบปรามผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองอย่างเข้มข้น ทำให้กลุ่มที่เคยเป็นพันธมิตร กลับต้องแตกหักและหันมาต่อสู้กันเอง โดยกลุ่มสำคัญที่มีผลให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ คือพรรคคอมมิวนิสต์จีน
สงครามกลางเมืองจบลงในปี 2492 พรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดยเหมา เจ๋อตุง ได้รับชัยชนะ รัฐบาลและกองกำลังของ นายพลเจียง ไคเชก ต้องถอยร่นไปตั้งรัฐบาลจีนคณะชาติ ยังเกาะไต้หวัน พร้อมทั้งผู้อพยพชาวจีนกว่า 2 ล้านคน แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้นำ หรือประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวัน
ในปี 2493 รัฐบาลสาธารณรัฐจีนของเจียง ไคเชก ยังคงสถานะอยู่ในองค์การสหประชาชาติ แต่หลังจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ขึ้นบนแผ่นดินใหญ่ และมีบทบาทในสหประชาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2514 รัฐบาลพลัดถิ่นในไต้หวัน ก็ถูกถอดถอนสมาชิกภาพ และสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้ามาเป็นสมาชิกสหประชาชาติในที่สุด
เหรียญมีสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งเจียง ไคเชก คือบุคคลสำคัญในการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิง แล้วขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลสาธารณรัฐจีน เป็นผู้นำจีนต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และโซเวียต แต่ในอีกด้านก็ประณามว่า เป็นเผด็จการระบอบลัทธิอำนาจนิยม ปราบปรามศัตรูทางการเมือง อย่างไร้ซึ่งความปราณี
เจียง ไคเชก เสียชีวิตในปี 2518 เหยียน เจียกั้น รับตำแหน่งต่อตามวาระที่เหลืออยู่แค่ 3 ปี หลังจากนั้น เจียง จิงกว๋อ ลูกชายของเจียง ก็รับหน้าที่เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 แม้จะออกแนวเผด็จการเหมือนพ่อ แต่ก็ยังยอมอ่อนข้อให้ผู้เห็นต่างลงบ้าง อย่างการผ่อนคลายเรื่องกฎอัยการศึก หรือยอมให้มีการตั้งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามขึ้น
หลังจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มดอกลิลลี่ป่า ในปี 2533 ณ ลานอนุสรณ์สถาน เจียง ไคเชก แห่งนี้เอง ดอกไม้แห่งประชาธิปไตยก็เริ่มเบ่งบาน หลี่ เติงฮุย ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี มีการยกเลิกกฎอัยการศึก รวมทั้ง หันมาเน้นการสร้างจุดยืนทางเศรษฐกิจบนเวทีโลกแทนการหันไปจับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ไต้หวันกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกและความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก จนได้รับสมญาว่าเป็น 1 ใน 4 เสือเศรษฐกิจของเอเชีย เทียบได้กับ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง
ปัจจุบันไต้หวันปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองหลายพรรค มีเสรีภาพทางสื่อมวลชน เสรีภาพทางเศรษฐกิจ แต่สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ยังคงถือว่า ไต้หวัน หรือ สาธารณรัฐจีน เป็นมณฑลหนึ่งของตน และยังไม่ได้ให้การยอมรับเอกราชของประเทศไต้หวัน มาจนถึงทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น