2556-01-15

ตำราว่ามา เซียนว่าไป Volume นั้น สำคัญไฉน?

หุ้นคือเกมส์การเงิน จะขึ้นหรือลงก็ได้ด้วยเม็ดเงิน ดังนั้นปริมาณการซื้อขายของหุ้นตัวที่กำลังเฝ้ามองอยู่ ล้วนแสดงออกถึงสถานการณ์การซื้อขายในช่วงเวลาต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคนำเข้ามาพิจารณา ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ โดย Volume มักกำหนดเป็นแท่งๆ ส่วนมากแล้วจะอยู่ด้านใต้สุดของกราฟต่างๆ หมายถึงปริมาณการซื้อขายในแต่ละวัน หรือแต่ละช่วงเวลาที่เรากำหนดในกราฟ สูงมากก็มีปริมาณการซื้อขายมาก เตี้ยหน่อยก็ซื้อขายน้อยหน่อยนั่นเอง

ตำราแรก กล่าวไว้ว่า เมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น และ Volume สูงขึ้น แสดงว่าหุ้นตัวนั้น มีการขึ้นจริง แต่ในทำนองเดียวกัน หากราคาหุ้นขึ้นสูง แต่ Volume ลดลง แสดงว่าการขึ้นของราคาหุ้นตัวนั้น ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว ในอีกด้านหนึ่งหากราคาหุ้นร่วงลงไปอย่างต่อเนื่อง ด้วย Volume ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าหุ้นตัวนี้ถือไม่ได้แล้ว ราคากำลังจะร่วงลงไปเรื่อยๆ ลดลงไปได้ถึงไหน ก็ลดลงไปจนกว่า Volume จะน้อยลง ซึ่งพยากรณ์ได้ว่า ช่วงขาลงกำลังจะจบสิ้น



จากสูตรนี้สามารถนำมาปรับใช้ ในกรณีที่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเท่ากับ High เดิม หรือทำ New High แต่เมื่อนำ Volume ของราคา High กับ New High มาเทียบกัน ปรากฏว่ามี Volume น้อยกว่า แสดงว่าการขึ้นครั้งนี้ มีแนวโน้มขึ้นไม่จริง และการขึ้นได้จบลงแล้ว

ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ที่มักพบเห็นเป็นประจำในการทำ New High คือเจ้ามือแกล้งดึงราคา ทำ New High แต่ Volume ในวันที่เกิด New High ไม่เพิ่มสูงกว่าวันก่อนหน้า แสดงว่าหุ้นขึ้นไม่จริง และในวันต่อมาราคาหุ้นก็จะร่วงลงไปตามธรรมชาติ ตำรายังเสริมอีกว่า หากวันที่หุ้นแดงเถือก พร้อมปริมาณ Volume สูงพอๆ กับวันที่ทำ New High นั่นหมายถึง ราคาหุ้นตัวนี้จะร่วงจริงๆ

หันมามองด้านเซียนกันบ้าง ขอให้เครดิตคุณดวงดาว แห่งความผูกพัน ได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่อง Volume ไว้ใน Facebook ห้องสุดยอดหุ้น-การลงทุน ว่า ... “สูตรสุดยอดของหุ้น ถ้าเราอ่านว่าหุ้นตัวนี้กำลังเป็น "ขาขึ้น" แต่วอลุ่มมัน "หาย" (วอลุ่มเทรดลดลง) หมายความว่ารายใหญ่กำลัง "เก็บของ" ไม่ปล่อยหุ้นออกมาหมุนเวียนในตลาด สภาพคล่องของหุ้นตัวนั้นจะค่อยๆลดลง"

... ลองคิดต่อให้เป็นหลักการวิทยาศาสตร์ ถ้าคน "ดูดหุ้น" เข้าไปในกระเป๋าหมด นักเก็งกำไรไม่ได้เข้ามาเล่น (รอบ) ไม่ได้เอาหุ้นมาหมุนวนในตลาด ทุกคนดูดเก็บ!! ทุกคนดูดเก็บ!! ปริมาณหุ้นในตลาดก็จะหายไป "...เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปเจอ "หุ้นขึ้น วอลุ่มหาย" นี่คือสุดยอดหุ้น ใครหาพบคนนั้นรวย" เวลาเราอ่านกราฟและวอลุ่มประกอบกัน เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ให้มันเป็นหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ จะทำให้เราเข้าใจว่า ฝ่ายตรงข้ามเขากำลังคิดอะไรอยู่ มันจะทำให้เรารู้เท่าทัน …

... เราต้องมองว่า "ซัพพลาย" (ปริมาณหุ้นหมุนเวียน) ในตลาดมันลดลง แต่ "ดีมานด์" (ความต้องการ) มันเพิ่มขึ้น เราอ่านออกว่า "รายใหญ่" กำลังเก็บของอยู่ ที่รู้ก็เพราะ "วอลุ่มมันหาย" ในระหว่างทางที่หุ้นกำลังวิ่งขึ้น" พูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆคำว่า "วอลุ่มหาย" หมายความว่า รายใหญ่อยู่ในช่วงสะสมหุ้น เก็บหุ้น "ใส่ปี๊บ" ไม่เอาหุ้นมาหมุนในตลาด แต่ถ้าเป็นกรณี "ตรงกันข้าม" สมมติว่า "หุ้นขึ้น" อยู่ดีๆ แล้วมีแรงขาย "ทุบฮวบ" กดให้ราคาหุ้น "หล่น" ลงมาพร้อม "วอลุ่ม" ที่หนาแน่น เป็นการยืนยันว่าหุ้นตัวนั้น "หมดรอบ" แล้ว คุณต้องขายทิ้ง ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าหุ้นตัวนั้นกำลังจะเปลี่ยนแนวโน้มเป็น "ขาลง"ค่ะ …

... นอกจากนั้นแล้ว ยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า หากวอลุ่มต่ำอยู่ดี แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น มี 2 กรณีที่ต้องทำคือ ให้ซื้อตามทันที หรือเล่นตามน้ำ "จับแล้วปล่อย" และทำนองเดียวกัน ถ้าวอลุ่มต่ำ แล้วแนวโน้มหุ้นหดตัวลงอีกให้ WAIT&SEE หลีกเลี่ยงหุ้นนำตลาด เพราะเค้าขึ้นแรงได้ เค้าก็ลงแรงได้ ส่วนกรณีหุ้นที่มี Volume สูง แล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ให้เล่นตามน้ำ ... แต่หากราคาเริ่มตื้อ GAB เริ่มแคบลงเรื่อยๆ Volume สูง แต่แนวโน้มเริ่มหดตัว ให้ขายหุ้นออกโดยเร็วหรือ Stop Loss …

เซียนดวงดาว ยังเผยกลยุทธ์เพิ่มเติมว่า ... ถ้าวอลุ่มสูง มีแนวโน้มกระตุกขึ้นแล้วหดลง นั่นคือเป็นโอกาสให้ขายหุ้นออกอีกระลอก ไม่ใช่ซื้อ จะเข้าอีกรอบ ต้องรอให้ราคาหุ้น "สะเด็ดน้ำ" ก่อน เนื่องด้วยในภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวน หากซื้อหุ้นเข้าพอร์ตแล้ว...ถือครองระยะหนึ่ง ซึ่งเมื่อตลาดหุ้นเป็น “ขาลง” พอดี ก็จะขาดทุน (ทางบัญชี) ในระยะแรก และต้องรอให้ราคาหุ้นดีดกลับพ้นต้นทุนที่ซื้อไว้ จึงจะเรียกว่ามี “กำไร” …

... ในกรณีการเล่นระยะสั้นๆ เช่น การเล่นแบบเทรดดิ้ง ในระยะที่ตลาดยังไม่นิ่ง การเล่นแค่ “จับ” แล้ว “ปล่อย” ขายออกไป เพื่อทำกำไรส่วนต่างราคาหุ้นจะทำให้คงสภาพคล่องของเงินสดไว้ได้ดีกว่า เราจึงเห็นเดย์เทรดเดอร์ (Day Trader) หรือที่เรียกว่า “เน็ต เซ็ตเทิลเมนต์ (Net Settlement) ซื้อเช้าขาย บ่าย...หักค่าหัวคิว (ค่าคอมมิชชั่น) เหลือเท่าไหร่ก็ถือว่าเป็น “กำไร” ได้เงินซื้อ “กับข้าวกับปลา” แต่ถ้าหากวันไหนที่ช่วงบ่ายตลาดเกิดแผ่วลง ถึงคราวต้องจำใจขายหุ้นออกแบบ “ตัดขาดทุน” หรือ “Cut Loss” นักเลงหุ้นเรียกการขายของท้ายตลาดแบบนี้อีกอย่างว่าเป็นการ “มอบตัว”  …

ไม่มีความคิดเห็น: