จากโค้งคนชรา ถัดไปอีกแจ่งที่ได้รับความนิยมในการเล่นน้ำฤดูร้อนเหมือนกันคือแจ่งกู่เฮือง ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง แจ่งกู่เรือง ออกเสียงเป็นคำเมืองได้ว่า แจ่งกู่เฮือง เป็นที่ตั้งของกู่ ที่บรรจุอัฐิ หรือกระดูกของ “หมื่นเรือง” หรืออ้ายเฮือง เจ้าหน้าที่ผู้ดูแล “ขุนเครือ” ซึ่งเป็นลูกของพญามังราย ที่ถูกจองจำไว้ในเรือนขังด้วยอาญากบฏ ขุนเครือเป็นใครทำไมกบฏ เรื่องมันยาวเริ่มจาก เมื่อพระญามังรายสวรรคต พระญาไชยสงคราม ผู้เป็นบุตรได้ยกเมืองเชียงใหม่ให้ลูกชายคนโตคือเจ้าแสนภู ปกครองเมืองเชียงใหม่ เจ้าขุนเครือเป็นน้องของพระญาไชยสงคราม พอทราบเรื่องว่าพ่อตาย แล้วพี่ชายยกเมืองเชียงใหม่ให้หลานปกครอง ก็ไม่พอใจ เลยยกทัพมาชิงเมืองเชียงใหม่
เจ้าแสนภูรู้ว่าอาของตน จะมาชิงเมือง ก็ไม่อยากมีเรื่อง หนีกลับไปหาพ่อที่เชียงราย พอพระญาไชยสงครามรู้เรื่องเข้าก็โกรธ สั่งให้เจ้าท้าวน้ำท่วม ลูกชายคนกลางที่ครองเมืองฝาง ยกทัพไปตีเอาเชียงใหม่คืน และจับตัวเจ้าขุนเครือเอาไว้ได้ ด้วยความเป็นพี่น้องกัน ไม่อยากลงอาญาฆ่าฟัน พระญาไชยสงครามจึงนำเจ้าขุนเครือไปคุมขังไว้ในเรือนขังที่บ้านของหมื่นเรือง อยู่แถวๆ แจ่งนี้ พร้อมมอบหมายให้หมื่นเรืองควบคุมดูแล ไม่ให้หลบหนีไปได้ แล้วยกให้เจ้าแสนภูขึ้นครองเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ต่อมาหมื่นเรืองเสียชีวิตลง พญาแสนภูจึงได้โปรดให้บรรจุอัฐิของหมื่นเรืองไว้ที่แจ่งนี้ ในสมัยก่อน ผู้มีเชื้อสายท้าวพระญา จึงไม่นิยมตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้ เพราะเคยใช้เป็นที่คุมขังมาก่อน
ปัจจุบันแจ่งกู่เฮือง มีการบูรณะให้มีช่องวางปืน และใบเสมาที่สมบูรณ์แบบสวยงาม ช่องระหว่างใบเสมานี้เอง คือช่องกระโดดน้ำของวัยรุ่นยุคก่อน สมัยเป็นเด็กน้อยยังไม่มีกฎห้ามปีนขึ้นกำแพง ใครกล้าโดดจากช่องวางปืนลงคูเมืองได้จะดูเท่ห์มาก แต่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยปลื้มเท่าไร ทั้งอันตรายและอยู่ใกล้สวนสาธารณะสวนบวกหาด ศูนย์รวมแว๊นบอย สก๊อยเกิร์ลในยุคก่อน จัดเป็นที่อโคจรสำหรับละอ่อนน้อย ไปสนามเด็กเล่นในสวนบวกหาดต้องมีผู้ใหญ่ไปด้วย ตอนเป็นเด็กเลยได้แต่นั่งดูเค้าโดดน้ำกัน แอบเอาขาจุ่มๆ แกล้งลื่นตกริมตลิ่งให้ค่อยๆ เปียกทีละน้อย ประมาณว่าไหนๆ ก็เปียกแล้วขอเล่นเลยละกันนะ
(คูเมือง 1) (คูเมือง 2) (คูเมือง 3) (คูเมือง 5) (คูเมือง 6)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น