2563-06-11

ไหลรถถีบ จากแจ่งหัวลิน ไปแจ่งศรีภูมิ แต่ละมุมล้วนมีที่มา (คูเมือง 3)

(คูเมือง 1) (คูเมือง 2) (คูเมือง 4) (คูเมือง 5) (คูเมือง 6)

ปั่นบ้างจูงบ้าง หลบฉากนักวิ่ง สลับกับผู้คนที่มานั่งกินลมชมวิวริมคูเมือง จนมาถึงแจ่งหัวลิน บนแผ่นปูนมีถ้อยบันทึกจารึกไว้ว่า ... “หัวลิน หมายถึงจุดเริ่มต้นของการรับน้ำด้วยการผ่านรางน้ำ (ลิน) ในอดีต มุม (แจ่ง) กำแพงเมืองนี้ เป็นที่รับน้ำจากห้วยแก้วเพื่อนำเข้ามาใช้ในเมือง จึงเรียกมุมกำแพงเมืองนี้ว่า แจ่งหัวลิน ป้อมที่แจ่งนี้บูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ ประมาณ พ.ศ. 2344” ... น้ำที่ไหลมาจากดอยสุเทพ ผ่านน้ำตกผาเงิบ ผาลาด วังบัวบาน ห้วยแก้ว ไหลเรื่อยลงมาถึงหน้าแจ่ง คนเฒ่าคนแก่เรียกพื้นที่รับน้ำนี้ว่า “ปากหมู” มีการตั้งศาลเจ้าหลวงคำแดงขึ้น บริเวณคูเมืองด้านในแจ่ง เอาไว้สักการบูชา อารักษ์ขุนน้ำและดงดอย ที่ให้น้ำหล่อเลี้ยงกับคนในเมือง

คำว่า “แจ่ง” ภาษาล้านนาหมายถึง “มุม” คำว่า “แจ่งเวียง” หมายถึงป้อมปราการที่ตั้งบนกำแพงเมือง “แจ่งเวียงเชียงใหม่” คือมุมทั้ง 4 ของเมืองเชียงใหม่ แจ่งเวียง ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในช่วงสมัยพระเจ้ากาวิละ ราวๆ ปี พ.ศ. 2344 ช่วงเวลานั้นเอง ประเทศในฝั่งยุโรป ได้ประสบความสำเร็จในการออกเดินทางข้ามห้วงมหาสมุทรเพื่อค้นหาแผ่นดินใหม่ ส่งผลให้เกิดแนวคิดลัทธิจักรวรรดินิยม มีการแก่งแย่งทรัพยากรเพื่อใช้ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย นำไปสู่การล่าและยึดครองอาณานิคม ไม่มีใครรู้ว่าต่อจากนี้อีกไม่นาน พม่าจะไม่มีโอกาสได้ยกทัพมาโจมตีเชียงใหม่อีกเลย หลังจากพม่าแพ้สงครามและตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

แจ่งหัวลิน ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่สูงที่สุดในคูเมืองเชียงใหม่ ถนนทางไปประตูช้างเผือกจึงเป็นทางลาด สามารถปล่อยรถถีบไหลไปเรื่อยๆ ตามคูเมืองได้ จนถึงตลาดประตูช้างเผือก ไหลรถถีบช้าๆ ชมวิวไป คนเชียงใหม่รุ่นเก่าเราเรียกแยกนี้ว่า แยกน้ำพุช้างเผือก เดี๋ยวนี้น้ำพุโดนรื้อไปแล้ว เด็กรุ่นใหม่รู้จักกาดช้างเผือกในแง่ของสตรีทฟู๊ดชื่อดังมากกว่า เมนูเด็ดแถวนี้มักจะมีคำว่าช้างเผือกตามมา อย่างขาหมูช้างเผือก หอยทอดช้างเผือกฯลฯ ยิ่งช่วงหัวค่ำเช่นนี้ ในภาวะปกติที่ไม่มีโควิด กาดช้างเผือกจะเต็มไปด้วย นักท่องเที่ยวฝรั่งจีนไทย คนเชียงใหม่เองกินมาตั้งแต่เด็กก็ยังไม่เบื่อ ลูกค้าล้นเหลือทะลักออกไปนอกถนน ทำเอารถติดกันเลยทีเดียว

กึ่งไหลกึ่งปั่น ไปเรื่อยๆ จนถึงแจ่งศรีภูมิ หรือไชยสะหลีภูมิ ตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นตำแหน่งศรีของเมือง ตรงกับชื่อของแจ่ง หมายถึงแจ่งที่เป็นศรี เป็นศิริมงคลของเมือง เป็นแจ่งเวียงแรก หรือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองเชียงใหม่ โดยในรัชสมัยพญามังราย ท่านได้เริ่มลงจอบแรกในการขุดคูเมืองจากจุดนี้ วนไปยังแจ่งขะต้ำ แจ่งกู่เฮือง แจ่งหัวลิน วกไปสี้นสุดที่แจ่งศรีภูมิ บริเวณใกล้ๆ แจ่งศรีภูมิมีต้นนิโครธ หรือต้นไทรใหญ่ ไม้มงคลในพุทธประวัติ แจ่งนี้จึงมีความสำคัญทางความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ โดยด้านในของแจ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าเมืองเชียงใหม่ เป็นพื้นที่บูชาผีอารักษ์เมือง และจัดให้มีพิธีทำบุญเมืองหลังจากแล้วเสร็จจากประเพณีบูชาเสาอินทขิล เป็นประจำทุกปี

แจ่งศรีภูมิ นอกจากจะมีความสำคัญทางความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์แล้ว หากย้อนกลับไปดูหน้าที่หลักข้อแรกของคูเมือง นั่นคือหน้าที่ป้องกันข้าศึกยามสงคราม คูน้ำรอบแนวกำแพงเมืองจะต้องมีความกว้างและลึกมากพอ กองทัพข้าศึกที่มีทั้งช้างและม้า จะได้ไม่สามารถบุกข้ามเข้ามาถึงในตัวเมืองได้ ในอดีตนั้นคูเมืองบริเวณแจ่งศรีภูมินี้ชาวบ้านล่ำลือกันว่า มีความลึกสุดๆ ชนิดที่ว่า หากเอาบันไดหยั่งลงไปดูความลึก ต้องใช้ขั้นบันไดมากกว่า 1,000 ขั้น คำเมืองเรียกบันไดว่า”เกิ๋น” เป็นที่มาของคำว่า “พันต๋าเกิ๋น” หมายถึงบันไดหนึ่งพันขั้น และกลายเป็นที่มาของชื่อวัดพันตาเกิน หรือวัดชัยศรีภูมิที่ตั้งอยู่บริเวณแจ่งศรีภูมินี้นั่นเอง



ไม่มีความคิดเห็น: