2562-05-16

ชาชักอร่อยที่ปากบารา แวะเช็คอินอุทยานฯ หมู่เกาะเภตรา ... ซาลามัด ดาตัง สตูล (หลีเป๊ะ 1)

(หลีเป๊ะ 2) (หลีเป๊ะ 3)

มิใช่เพียงแค่โลกใต้ทะเลที่มีสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์นับล้าน หากแต่มันคือห้วงจักรวาลแห่งการต่อสู้เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ฝูงปลาน้อยใหญ่ แหวกว่ายดำดิ่งแหวกสาหร่ายแนวปะการัง รูปแบบห่วงโซ่อาหารขนาดมหึมา เป็นกฎหลักของระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลอันงดงาม ภาพศิลปะแห่งการต่อสู้เพื่อดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ เปรียบดังจักรวาลอีกห้วงหนึ่ง โลกใต้น้ำแห่งนี้ไม่ต่างจากแดนมหัศจรรย์ เป็นสวรรค์แห่งท้องทะเล รู้จักกันดีทั่วโลกในนาม อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล มหัศจรรย์ความงาม ที่เรามุ่งมั่นจะไปสัมผัสความล้ำค่าแห่งทะเลอันดามัน ช่องแคบมะลากา มหาสมุทรอินเดีย

จากเชียงใหม่ บินไปลงหาดใหญ่ ตั้งใจจะไปดำน้ำดูปะการังที่เกาะหลีเป๊ะ ขอบคุณเพื่อนชาวสตูล ขับรถมารับพาไปตั้งหลักแถวท่าเทียบเรือปากบารา ท่าเรือที่เราจะโดยสารเรือข้ามไปหลีเป๊ะ ถ้าใครบินมาลงสนามบินหาดใหญ่ แต่ไม่มีเพื่อนใจดีมารับ เค้าก็มีคิวรถตู้ หาดใหญ่ – ปากบารา ให้บริการอยู่ พอถึงปากบาราแล้วอย่าลืมชวนกันมาชิมอาหารอร่อยประจำถิ่น ขอแนะนำร้านชาชักปากบารา มีทั้งชาชัก ไมโลชัก กาแฟชัก โรตีกรอบ โรตีไข่ มะตะบะไก่ โรตีน้ำแกง อร่อยสมคำร่ำลือ แถมบรรยากาศร้านคือแสนจะดีงาม ติดทะเลอันดามันนั่งกินรับลมชมเกลียวคลื่น ตกลงคืนนี้เราพักค้างคืนกันแถวปากบาราก็แล้วกัน


ตื่นเช้าขึ้นมา ก็พากันไปเที่ยวที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานธรณีสตูล สถานที่สำคัญทางด้านธรณีวิทยา จนได้รับการประกาศจากยูเนสโก ให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ก่อนถึงท่าเรือปากบาราเพียง 3 กม. มีลักษณะเป็นทางเดินชมธรรมชาติเลียบเขาโต๊ะหงายเลาะชายฝั่งทะเล แลนด์มาร์คจุดแรกห้ามพลาดคือหาดหินหลากสี ชายหาดที่เรียงรายด้วยก้อนหินสีต่างๆ วางกระจายอยู่เต็มชายหาด โดยหินสีแดงเป็นหินทราย ส่วนสีเทาเป็นหินปูน สีเหลืองเป็นหินทรายผุ และสีขาวเป็นแร่ควอทซ์ หินเหล่านี้ถูกสายน้ำแกะสลักขัดเกลาจนกลมมนหลายรูปร่าง มีอายุอานามกว่า 500 ล้านปี

เดินไปเรื่อยตามทางเดินเลียบหน้าผาริมทะเลสูงชัน มีสะพานให้เดินอ้อมไปจนพบกับสะพานเขตข้ามกาลเวลา ซึ่งเป็นจุดเชื่อมสัมผัสของหิน 2 ยุค คือหินทรายสีแดง เป็นหินทรายกลุ่มหินตะรุเตา ยุคแคมเบรียน อายุ 541 – 485 ล้านปี และหินปูนสีเทา เป็นหินทุ่งสูง ยุคออร์โดวิเชียน อายุ 485-444 ล้านปี การเลื่อนมาสัมผัสของหินทั้งสองยุค เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ระนาบรอยเลื่อนเอียงเทองศาชัดเจนและงดงามเช่นนี้หาพบได้ไม่บ่อย เวลาเราก้าวข้ามไปมาจากหินปูนสีเทาไปหินทรายสีแดง ก็ประหนึ่งว่าเราก้าวข้ามกาลเวลาหลายร้อยปี ได้ด้วยการเดินเพียงก้าวเดียว

ชมวิวพอหอมปากหอมคอ พอใกล้ได้เวลานัดเรือรอบ 11.00 น. ก็รีบไป ท่าเทียบเรือปากบารา เพื่อโดยสารเรือสปีดโบ๊ต ข้ามไปยังเกาะหลีเป๊ะ เพื่อนชาวพื้นถิ่นเล่าว่า แต่ก่อนไม่มีสปีดโบ๊ต ระยะทาง 62 กม. ใช้เวลาเดินทางกว่า 5 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้มีสปีดโบ๊ตชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงแล้ว แถมขาไปจอดให้แวะเที่ยวรายทางก่อนด้วย เริ่มจากเกาะตะรุเตา เรือจอดให้พักรับประทานอาหารกลางวันที่เตรียมมา ดังนั้นกรุณาเก็บตั๋วเข้าชมอุทยานฯ ติดตัวไว้ให้ดี เพราะต้องใช้เข้าในการเข้าชมอุทยานฯ สักพักพออิ่มหนำสำราญ เรือก็พาไปเที่ยวเกาะไข่ ลุยน้ำไปถ่ายภาพ “ซุ้มรักนิรันดร์” หรือประตูหินโค้ง แลนด์มาร์คพลาดไม่ได้แห่งเกาะไข่ ตะรุเตา

ในที่สุดก็เดินทางมาถึงเกาะหลีเป๊ะ เป็นเกาะเล็กๆ แบนๆ ตั้งอยู่ในหมู่เกาะอาดัง - ราวี ความยาวหัวถึงท้ายเกาะแค่ 3 กิโลเมตร ก่อนเรือจะเทียบท่า ที่มองเห็นเป็นภูเขาสูงๆ เบื้องหลังนั่นไม่ใช่หลีเป๊ะ แต่เป็นเกาะอาดัง เกาะนี้จะเรียบๆ ตามชื่อหลีเป๊ะซึ่งหมายถึงเรียบแบน มาจากภาษาท้องถิ่นชาวน้ำหรือชาวเล อยู่อาศัยทำการประมงเลี้ยงชีพอยู่บนเกาะนี้มาหลายร้อยปี เพื่อนชาวสตูลเล่าว่า โชคดีที่ขณะมีการสำรวจเพื่อแบ่งเส้นพรมแดน ชนพื้นถิ่นที่นี่เค้าตอบว่าเค้าเป็นคนไทย ไม่อย่างนั้นเกาะหลีเป๊ะอาจจะกลาย เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียไปแล้วก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น: