2562-12-23

ขึ้นกระเช้า Badaling Cableway ตะกายกำแพง 8 ทิศ พิชิตด่านปาต้าหลิง (ปักกิ่ง 10)

(ปักกิ่ง 7) (ปักกิ่ง 8) (ปักกิ่ง 9) (ปักกิ่ง 11) (ปักกิ่ง 12) (ปักกิ่ง 13)
ทันทีที่ประตูสถานี Huang Tu Dian Station เปิดออก ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปปาต้าหลิง ต่างพากันวิ่งกรูเข้าไปจับจองที่นั่งบนรถไฟสาย S2 ประตูโบกี้แรกไม่ต้องหวัง ยืนออรอกันเนืองแน่น ที่เหลือก็รีบวิ่งไปหาตู้ที่ยังไม่มีใครมาขวาง รถไฟขบวนยาวเหยียด รีบวิ่งไปหาประตูตู้โบกี้ที่ยังว่างดีกว่า ขึ้นไปแล้วตัดสินใจเลือกนั่งให้ดี เก้าอี้มีอยู่ฟากซ้าย 3 ฟากขวา 2 หากลังเลมัวยืนเลือกไปมา ในชั่วพริบตาจะมีคนมาจองนั่งอย่างรวดเร็ว บรรยากาศการแย่งเก้าอี้ไม่ต่างกับรถไฟชั้น 3 บ้านเรา ใครๆ ก็อยากนั่งใกล้หน้าต่าง แต่แตกต่างกันคือที่นี่แดดส่องก็นั่งได้ อุ่นสบายดีเสียอีกด้วย

รถไฟสาย S2 ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไป ใช้ความเร็วไม่มาก สถานี Huang Tu Dian Station ก็จัดว่าเป็นนอกเมืองแล้ว นั่งดูวิวสองข้างทางยิ่งไกลก็ยิ่งบ้านนอกขึ้นเรื่อยๆ เพราะด่าน “ปาต้าหลิง” หรือแปลตรงตัวว่า “กำแพง 8 ทิศ” เป็นทั้งฐานบัญชาการ และหอสังเกตการณ์ ที่สร้างขึ้นบนภูเขาสูง เพื่อให้มองเห็นข้าศึกศัตรูได้ในระยะไกล เป็นเมืองชายแดน หนึ่งในสมรภูมิการต่อสู้ที่สำคัญ สร้างขึ้นป้องกันการรุกรานจากเผ่าแมนจู พอใกล้ถึงที่หมาย รถไฟก็เริ่มช้าลง เพราะต้องไต่ขึ้นดอยลาดชัน ระหว่างนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่มายืนขายบัตรกระเช้าไฟฟ้าขึ้นปาต้าหลิง ที่หัวโบกี้ ฟังไม่ออก เลยไม่รู้ว่ามีโปรโมชั่นพิเศษอะไร

รถไฟ S2 มาสถานีปาต้าหลิงตรงเวลาประมาณบ่ายสองโมง ค่าธรรมเนียมในการขึ้นกำแพงเมืองจีน ผู้ใหญ่ 35 หยวน เด็กครึ่งราคา 17.5 หยวน ถูกมากหากเทียบกับค่ากระเช้า Badaling Cableway ไปกลับคนละ 140 หยวน แต่ถ้าใครคิดว่าแพง ก็เดินขึ้นไปชมเองได้ กำแพงเปิดถึง 16.30 น. ตอนนี้บ่ายสองกว่าละ เดินทั้งคืนก็คงไม่ถึงยอด เราเลือกซื้อเฉพาะตั๋วขาไปอย่างเดียว คนละ 100 หยวน เพราะวางแผนไว้ว่าจะเดินชมวิวจากปาต้าหลิง หรือด่าน 8 ลงมาจนถึงด่าน 4 แล้วค่อยนั่งรถรางสไลด์ Sliding Car กลับลงมาข้างล่าง เจ้าหน้าที่ขายบัตรกระเช้าฯ พยายามอธิบายถึงข้อจำกัดเรื่องเวลา และราคา หากขึ้นไปซื้อตั๋วขากลับข้างบนจะแพงกว่า เลยต้องบอกให้สบายใจว่าขากลับเราจะนั่งรถรางกลับลงมาได้ทันเวลา

กระเช้าไฟฟ้าพาล่องลอยขึ้นดอยสูง มองเห็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เป็นกำแพงสูงใหญ่พาดยาวไปกับเทือกเขา ราวกับพญามังกรกำลังเริงร่าทอดตัวไปมาบนเทือกเขาใหญ่ มองลงไปเห็นผู้คนที่ใช้การเดินไปตามกำแพงเพื่อขึ้นไปชมด่านต่างๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย ถ้ายังแข็งแรงและมีเวลามากพอ ก็จัดว่าน่าสนใจ แต่ใครเวลาน้อยแถมอายุเยอะ การนั่งกระเช้าก็เป็นตัวช่วยที่ดี ประหยัดเวลาแถมลัดฟ้าลอยชมวิวมุมสูงไปด้วย พอสุดสาย Badaling Cableway ก็ค่อยไปสัมผัสบรรยากาศการปีนขึ้นไปจุดสูงสุดของด่านปาต้าหลิง เพราะกำแพงเมืองจีนมิใช่แค่เพียง อิฐ หิน ดินเผาที่เอามาเรียงกันไปตามสันเขา ให้เดินไปเซลฟี่เหมือนที่พักริมทางทั่วไป


ความลาดชันของกำแพงที่สร้างไปตามภูมิประเทศ มีบันไดบ้างไม่มีบ้าง ตามเหตุผลทางยุทธศาสตร์เมื่อครั้งอดีต ทำให้ราวเหล็กต้องถูกสร้างขึ้นเอาไว้เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยว ได้ยื้อสาวราวเหล็ก ปีน ไต่ ตะกายกันจนคล้ายจะห้อยโหน ยืนบนพื้นเอียงๆ นานๆ มองไปทางไหนก็ไม่มีพื้นระนาบ จนเริ่มจะวิงเวียนเหมือนไปเล่นบ้านกลับหัวแถวพัทยา พอก้มมองพื้นหินที่สึกกร่อนเป็นลอนคลื่น ชวนคิดว่าหินสุดแกร่งเท่านั้นที่สกัดมาเพื่อสร้างกำแพง และมันก็ได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดีมาแล้วหลายพันปี รองรับฝ่าเท้าขุนศึกแลทหารมาหลายล้านคน แม้ทุกวันนี้ก็ยังทำหน้าที่รับคลื่นมหาชน ที่เบียดเสียดกันจะขึ้นไปชื่นชมสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน

กำแพงเมืองจีนทอดยาวสูงตระหง่าน กร่างกร้านเกรอะกรำย้ำกาลเวลา สายลมพัดยอดเขาเย็นยะเยือก แฝงไว้ด้วยความเศร้าสะพรึง อิฐ หิน ดิน ซุง แรงงานจากทั่วประเทศ ใช้เวลาสร้างหลายชั่วอายุคน จนไม่อยากคิดว่าต้องล้มหายตายจากกันไปเท่าไร แม้รัฐบาลจีนได้พยายามอนุรักษ์ไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด แต่ก็มีการแอบรื้อถอน ขโมย หรือทำลาย ทำให้ปัจจุบันกำแพงเมืองจีนมีจุดที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้เพียง 3 แห่งเท่านั้น คือด่านปาต้าหลิง ด่านซานไห่กวน มณฑลเหอเป่ย และ ด่านเจียยู่กวน ในมณฑลกานสู โดยด่านปาต้าหลิง ถือได้ว่าเป็นส่วนที่อนุรักษ์ไว้สมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ยังไม่วาย ต้องติดป้ายห้ามคนมือบอนขีดเขียนกำแพงอยู่เป็นระยะ

ไม่มีความคิดเห็น: