2564-01-12

ส่องแนวเทรดหุ้น สไตล์คุณซาบีนา “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวรอด 2 ช่อง” (ซาบีนา 2)

(ซาบีนา 1) (ซาบีนา 3) (ซาบีนา 4)

เทรดธรรมดาโลกไม่จำ คนที่ซื้อหุ้น ก็ลุ้นแต่จะให้หุ้นขึ้น แต่สำหรับคุณซาบีนา เธอจะค่อนไปทางแช่งให้ลงมากกว่า อย่างที่บอกว่าคุณซาบีนามีลีลาการเทรด และการตอบกระทู้ที่ไม่เหมือนใคร หลายวลีจึงจำได้จนขึ้นใจ ไม่ว่าจะเป็น ... “สมน้ำหน้า หุ้นขึ้นแล้วไม่ขาย”... กลายเป็นเหตุวิวาทะกับเซียนหุ้นทั้งหลายในห้องแชท บ้างก็สวนกลับคุณซาบีนาอย่างแรงเช่นกัน ประมาณว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวรอดแค่ 2 ช่อง” เพราะสไตล์ของเธอคือ แบ่งหุ้นมาเล่น ทำอย่างไรก็ได้ ให้มีหุ้นเท่าเดิม เพิ่มเติมคือยอดเงินในบัญชี


… “หุ้นลงนั่นแหละ ถึงจะได้กำไรมากกว่า  ทั้งนี้เพราะ ตามธรรมชาติของคนเล่นหุ้น  เมื่อซื้อได้หุ้นจำนวนหนึ่ง จนหมดเงินที่เอามาลงในตลาดหุ้น ก็จะต้องรอ  รอจน ได้กำไรตามที่ตั้งเป้าไว้ จึงขาย สมมุติว่า 20% แต่เมื่อขายหมดนะซิ หุ้นกลับขึ้นไปอีกแล้วก็จะหงุดหงิดจนทำอะไรไม่ถูก” ... แทบทุกคนที่เคยสัมผัสกำไรอันหอมหวาน จากการเล่นหุ้น ล้วนเคยผ่านบรรยากาศดังกล่าวมาแล้วทั้งสิ้น ภาษาศิลปินเค้าเรียก “ขายหมู” ขายแล้วหุ้นวิ่งไปต่อ ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า มันดีกว่า “ติดดอย” จริงหรือไม่


… “sabina เคยพบคนที่ซื้อหุ้นราคา 200 บาท ไป 40000 หุ้น ลงไป 8 ล้านบาท พอหุ้นนี้ขึ้นไป 10% ภายใน 2-3  เดือน เขาขายไป ได้มาหุ้นละ  20 บาท  ได้กำไรแปดแสนบาท ตอนนี้เขามาบ่นพร้อมกับหัวเราะชอบใจว่า ถ้าเขารอจน PTT ถึง  400  บาท ซึ่งไม่นานมากเลย เขาจะได้กำไร 8 ล้านบาท แทนที่จะได้แค่ 8 แสน หลังจากแบ่งเงินไปเลี้ยงเพื่อนฝูงไปเที่ยวต่างประเทศกันแล้วเหลือไม่เท่าไร” ... หลังจากขายหมูไปแล้ว ก็มักมองหาหุ้นตัวใหม่ ยิ่งใครใจร้อนเห็นพอร์ทว่างนานไม่ได้ ก็รีบเข้าไปรับ กลายเป็นที่มาของศัพท์อีกคำคือ “ติดดอย”


ดอย คือรูปเส้นกราฟที่ไล่เรียงกันไป สูงต่ำตามราคา ใครซื้อราคาสูงก็อยู่ตำแหน่งยอดดอย หุ้นลงมาแล้วยังขายไม่ได้ก็ติดดอยอยู่อย่างนั้น คนส่วนใหญ่จึงไม่ชอบให้หุ้นลง แต่คุณซาบีนา กลับอยากให้หุ้นลง เธอเคยโพสต์ไว้ว่า ... “ทำไมหุ้นลงถึงได้กำไรมากกว่า ก็เพราะเมื่อลงทุน คุณก็อยากจะลงในระยะยาว เก็บกำไรเนื้อๆ เมื่อหุ้นขึ้นถึงตามเป้า แต่ sabina  ยังไม่ทำเช่นนั้น  ตั้งใจจะซื้อ BBL ให้ครบ 50,000 หุ้น แต่จนบัดนี้ ก็ซื้อไม่ได้ครบสักที เพราะฉะนั้นเงินที่เอามาลงจึงเหลือพร้อมที่จะซื้อหุ้นเพิ่มได้ทุกราคา เมื่อมันเกิดลงแบบวิปริตขึ้นมา” ... 


... “ตอนแรกก็ซื้อได้  10000  หุ้น และเมื่อครบ  ก็ตั้งหน้าตั้งตาแบ่งขายประมาณ 50%   แต่แบ่งขายนะ ทีละพัน สองพันไม่เกิน   5000  หุ้น เมื่อขายแล้วราคา ลงมาบาทสองบาท ก็ซื้อคืน พอราคาขึ้นไป ก็ขายไปอีกพอตอนลงแล้วลงอีก ก็เอาเงินมาซื้อราคาที่ลงถูกใหม่ ได้อีก 10000 หุ้น หุ้นก็มีมา 20000 หุ้น แล้วก็เอามาครึ่งหนึ่งซื้อไปขายมาอีก  จนมีหุ้นอยู่ถึง  30000 หุ้น ทีนี้ก็ขยายการแบ่งขายเป็นวันละ  5000-10000  หุ้น” … ลักษณะการซื้อของคุณซาบีนา จึงไม่ใช่การถัว  แต่เป็นการเทรด ขึ้นขายก่อน อ่อนค่อยซื้อกลับ


เธอย้ำอยู่เสมอว่า “หุ้นต่อให้ดีแค่ไหน ยังไงก็ต้องมีย่อ” หลังจากที่ตั้งขาย Offer ราคา ATO หรือแม้แต่ ขายยัดเวลาหุ้นฝั่ง  Bid ใกล้หมด พอ Match แล้ว เธอก็ตั้ง Bid รอต่ำลงไปแค่ 2 ช่อง ถามว่าทำไมต้อง 2 ช่อง ช่องแรกคือค่าคอมฯ ช่องต่อไปคือกำไร กินกำไรแบ่งกับโบรค คนละช่อง การเอากำไรแค่ 2 ช่อง โอกาส Match จึงมีมาก หลายคนค่อนแคะว่าซื้อขายบ่อยโบรคจะรวยเอา เธอก็สวนกลับเบาๆ เล่น BBL ทีละ 1000 หุ้น กำไร 2 ช่องหักค่าคอมฯ เหลือ 300 กว่าบาท ก็ได้มื้อเที่ยงฟรีมื้อหนึ่งละ ดีกว่านั่งจดๆ จ้องๆ รอกินมื้อใหญ่ๆ แต่ไม่รู้เมื่อไรจะได้กิน


... “ถามว่า แล้วที่ขายไป หุ้นกลับขึ้นต่อ  ซื้อกลับไม่ได้มีไหม ตอบว่ามี หลายสิบครั้ง  แล้วทำอย่างไร ก็เก็บเงินไว้ก่อนซิ แล้วในที่สุด เมื่อวันที่ 16/7/08 BBL ลงมาต่ำกว่า 100 (99.50) ซื้อกลับมาได้หมดเลย ทุกราคาที่เคยขายไป ซึ่งตอนนั้นไม่สามารถซื้อกลับได้ สรุปแล้ว เพราะหุ้นลงนี่แหละถึงทำกำไรได้อย่างมากมาย ถ้าซื้อหุ้นมา คิดแต่จะกอดไว้ ทำกำไร รอบเดียวมันได้ไม่มากหรอก และจะได้เมื่อไรก็ไม่รู้” ... ที่สำคัญอารมณ์กอดหุ้นก้อนใหญ่ไว้รอขายแพงๆ กับกอดเงินสดแล้วรอซื้อถูกๆ ความกดดันช่างแตกต่างกันยิ่งนัก


... “ตอดนิดตอดหน่อย ทำให้ทุนลดลงมาเรื่อยๆ ในที่สุดอาจจะได้หุ้นฟรีทั้งหมดก็ได้ และเมื่อวันนั้นมาถึง วันที่ BBL ทำ new high ก็จะขายทั้งหมด โดยไม่ซื้อกลับ พักเล่นหุ้นสักสองเดือนเที่ยวรอบโลกให้ชุ่มปอดแล้วกลับมา ซื้อใหม่ ราคาเท่าไรก็ได้ ถือว่าเป็นรอบใหม่ก็แล้วกัน” ... ซาบีนาสไตล์ จึงมีทั้งเทรดสั้น เทรดยาว เทรดทุกวัน วันละหลายรอบ หลายราคา ดังนั้นต้องรู้ว่าราคาซื้อขาย หลังหักค่าคอมฯ แล้ว มีกำไรขาดทุนเท่าไร ซึ่งคุณซาบีนาได้แนะนำให้ทำ Excel ไว้ใช้ ทุกวันนี้ผมก็ยังใช้ตารางนี้เทรดอยู่ เดี๋ยวจะตกผลึกวิธีทำ Excel ไว้ให้ดูในตอนต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น: