2562-07-12

พลิกตำราซุนวู กลยุทธอ้อมตรง จากเทียนอันเรกา สู่พระราชวังต้องห้าม (ปักกิ่ง 4)

(ปักกิ่ง 1) (ปักกิ่ง 2) (ปักกิ่ง 3) (ปักกิ่ง 5) (ปักกิ่ง 6) (ปักกิ่ง 7)
ร้านรวงฝั่งตรงข้ามโรงแรมเทียนอันเรกา สร้างเป็นลักษณะบ้านโบราณชั้นเดียวหลังเล็กๆ หลังคามุงกระเบื้องสีเทาที่เรียกว่าผิงฝาง แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงอาณาเขตด้านข้างของพระราชวัง สร้างกลิ่นอายวัฒนธรรมเมืองเก่าได้เป็นอย่างดี แต่ดูแล้วไม่น่าจะมีทางให้ตัดตรงเข้าวัง ต้องเดินอ้อมออกไปเข้าด้านหน้าทางถนนใหญ่ จากถนนใหญ่หากเดินเลียบกำแพงสีแดงไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นจัตุรัสเทียนอันเหมิน มีทหารยืนเฝ้ากำแพงอยู่ กำแพงสูงประมาณ 5 เมตรได้ หรือควรจะเรียกว่ารั้วก็พอ เพราะกำแพงวังจริงๆ ข้างในสูงประมาณตึก 5 ชั้น ระหว่างทางก็จะมีอุโมงค์ให้มุดลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่จะไปวังไม่ต้องมุดลงดิน มีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ไม่ไกล


ตำราพิชัยสงครามซุนวู บทที่ 7 กล่าวไว้ว่า “ผู้รู้กลยุทธ์อ้อมตรง พึงเดินทางอ้อม แล้วล่อด้วยประโยชน์ เคลื่อนพลทีหลัง ถึงที่หมายก่อน” คิดได้ดังนี้ก็ตัดสินใจเดินเข้าซุ้มประตู ข้ามสะพานผ่านคูน้ำที่เย็นจนเป็นน้ำแข็งไปก็จะเจอร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของฝากของที่ระลึก ระหว่างทางมีนักท่องเที่ยว เดินสวนทางมาเป็นระยะ แสดงให้เห็นว่าเรามาถูกทางที่ตั้งใจไว้ เพราะตามหลักแล้วนักเที่ยวตามรีวิว จะเริ่มต้นจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน อนุสาวรีย์วีรชน ข้ามฝั่งมาเทียนอันเหมิน ถ่ายรูปกับท่านประธานเหมาเจ๋อตุง แล้วก็เข้าด้านหน้าวัง เดินทะลุไปออกหลังวัง ก่อนแยกย้าย หรือเดินย้อนกลับมาทางนี้ เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าสถานีเทียนอันเหมิน


ขณะนี้เวลาเริ่มสายเกินไปที่จะแวะเที่ยวเทียนอันเหมิน เพราะพื้นที่เทียนอันเหมิน และสถานที่ราชการสำคัญโดยรอบ เป็นพื้นที่ควบคุม แม้ว่าตามข้างทาง หรือสี่แยกต่างๆ จะมีรถตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร ประจำอยู่ทุกระยะ ก่อนจะเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็ต้องผ่านการตรวจกระเป๋าสัมภาระอย่างละเอียด แต่การจะเข้าไปเทียนอันเหมินต้องเผื่อเวลาเข้าแถวอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เบียดเสียดไปกับคลื่นมหาชนยาวเหยียด ที่ต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นอย่างละเอียดเข้มงวด ถึงขั้นว่าแม้จะเป็นคนจีน ไม่มีของผิดกฎหมาย แต่ถ้าไม่ได้พกบัตรประชาชนมาให้เจ้าหน้าที่สแกนก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้

ที่สำคัญ ตั้งแต่เทียนอันเหมิน ไปจนถึงพระราชวังต้องห้าม ไม่มีอาหารขาย แต่บริเวณนี้อาหารการกินเพียบ มีทั้งล้อเข็น ทั้งจักรยานเร่ขายขนมพื้นถิ่น อย่าง "ปิงถังหูลู่" หรือผลไม้ชุบน้ำตาล แต่เดิมใช้ผลซานจา หน้าตาคล้ายๆ พุทรา แต่รสชาดไม่ใช่ ปัจจุบันฟิวชั่นไปใช้ผลไม้หลากชนิด ชิมดูแล้ว สตรอเบอรี่อร่อยกว่าซานจา ราคาไม้ละ 15 หยวน ข้าวโพดร้อนๆ แก้หนาวฝักละ 5 หยวน เดินไปกินไปใกล้เที่ยงเยี่ยงนี้ แวะทานก๋วยเตี๋ยวข้างทางดีกว่า ดูเมนูมีตั้งแต่ 15 – 25 หยวน ชี้เอาตามโต๊ะข้างๆ อีกแล้ว เส้นโตๆ คล้ายอุด้ง ชามละ 20 หยวน ถึงเป็นร้านนั่งโต๊ะเป็นกิจจะลักษณะ แต่ชามก็เอาถุงพลาสติกคลุมมาเสิร์ฟ เหมือนร้านข้างทางแถวเซินเจิ้น ส่วนน้ำเปล่าบนโต๊ะอาหารไม่ต้องพูดถึง เป็นอะไรที่หาดูยากอยู่แล้วในเมืองจีน

ปักกิ่งเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดในจีน ค่าครองชีพจึงสูงกว่าเมืองอื่นๆ มาก แต่เมื่อเราผ่านเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก ประจำปี 2019 ที่จัดอันดับโดย Economist Intelligence Unit (EIU) อย่างฮ่องกง ซึ่งปีนี้ครองแชมป์ร่วมกันกับ สิงคโปร์ และปารีส ทำให้เรารู้สึกว่าค่าครองชีพในปักกิ่งไม่แพงเท่าฮ่องกง หรือเซินเจิ้น อย่างก๋วยเตี๋ยวชามนึงที่ปักกิ่ง ตกอยู่ 20 หยวน ที่เซินเจิ้นราว 30-40 ฮ่องกง 50-60 วัดอัตราแลกเปลี่ยน 4-5 บาท ยังไงปักกิ่งก็ถูกกว่า แต่ถึงกระนั้นบ้านนอกอย่างเรามาจากเชียงใหม่ ค่าครองชีพต่ำกว่ากรุงเทพฯ ที่แพงเป็นอันดับ 41 ของโลก ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมทัวร์จีนถึงนิยมไปเที่ยวเชียงใหม่กันนัก

จากร้านก๋วยเตี๋ยวเดินมาไม่ไกล ก็พบกับกำแพงวังด้านข้างทางทิศตะวันออก พอมาเจอของจริงก็ไม่รู้จะเรียกกำแพงได้ไหม เพราะตึก 5 ชั้นก็ดูจะเล็กไปถ้าเทียบกับกำแพงวัง มีสะพานข้ามคูเมืองไปยังมีซุ้มประตูฝั่งตะวันออก แต่ไม่อนุญาตให้เข้าไป ต้องเดินเลียบกำแพงวังไปทางทิศใต้เพื่อไปเข้าประตูด้านหน้า ในแผนที่ตรงนี้เรียกถนนตงหัวเหมิน มีจุดบริการรถรับส่งไปด้านหน้าวังด้วย แต่อากงอาม่ารอคิวอยู่เยอะเหลือเกิน เดินเล่นถ่ายรูปไปเพลินๆ ดีกว่า คูเมืองนี้ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรดี คลองดีไหม เพราะกว้างและลึกมาก แถมเย็นจัดจนกลายเป็นผืนน้ำแข็ง อย่าคิดถึงเรื่องจะข้าม แค่ตกลงไปก็ท่าจะไม่รอด

ไม่มีความคิดเห็น: