... ไปพบบทความ ทั้งหมด 17 ตอนในพันทิป กระทู้คุณเจ็ดกระบี่เทวดา .. อ่านแล้วชอบมาก คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับหลายๆท่าน ขออนุญาตนำมาแชร์ต่อครับ ...
ที่มา : ThaiDayTrade , credit : boardthai.net/jadetjomjone
“หุ้นเก็งกำไรทุกวันนี้ คุณอย่าคิดว่าหมูนะ เขาไม่ลากยาวให้พวกคุณมากินเงินเขาฟรีๆหรอก ถ้าคุณจะเก็งกำไร คุณต้องใช้ "ทฤษฎีปิงปอง" คุณท่องไว้ "ขึ้นขาย-ลงซื้อ" "ขึ้นขาย-ลงซื้อ "ขึ้นขาย-ลงซื้อ "ขึ้นขาย-ลงซื้อ” ……… เซียนหุ้นร้อยล้านท่านหนึ่งเผยเคล็ดลับ ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ให้ฟัง
ทำไม เซียนหุ้นท่านนี้ ถึงระบุว่า ในอดีต หากเราซื้อหุ้นตัวไหนแล้วมันวิ่ง เราถือยาวได้เลย แต่เดี๋ยวนี้ ขึ้นมาต้องขาย แล้วค่อยรอรับใหม่ด้านล่าง เดี๋ยวไปดูกลวิธีของรายใหญ่พร้อมๆกันครับ
ทุกวันนี้ เขาพัฒนาแล้วครับ เขาใช้ทีมงาน เขาเอาเทรดเดอร์ ที่เก่งกราฟและเก่งจิตวิทยาการลงทุน มาทำหน้าที่แทน และทำแบบทีมพันธมิตร ไม่ใช่หุ้นใครหุ้นมันเหมือนก่อน
หมดยุคเถ้าแก่ ใช้แต่กำลังเงิน แล้วครับ เพราะวิธีลากยาวแบบเก่า มันใช้เงินเยอะ ไม่มีประสิทธิภาพ เลยต้องเอาเซียนกราฟมาสร้างกราฟหลอกล่อ ให้เราซื้อ ให้เราถือ ให้เราขาย ให้เรากระทำไปในทิศทาง ที่เขาต้องการให้เราเป็น เพื่อประสิทธิภาพในการใช้กำลังเงิน
ทุกวันนี้ แนวรับแนวต้าน ใครๆก็รู้พอๆกัน แต่โวลุ่มเทรดนี่สิ จะเป็นตัวยืนยันว่าขึ้นจริงหรือลงจริง หรือไม่
กรณี ราคาขึ้น และมีโวลุ่มเข้า จะยิ่งเป็นการยืนยันการขึ้น แบบนี้ต้องซื้อ
ถ้าโวลุ่มเข้า แต่ราคานิ่งนานเกินไป ต้องหยุดดูทีท่าก่อนล่ะ อย่าไปเคาะขวาซื้อเพลิน เพราะอาจอยู่ระหว่างการรินขายเติมขายไม่หยุดหย่อนก็ได้
แต่ถ้าราคาไหลลง พร้อมๆกับโวลุ่มเข้ามามาก แบบนี้ ต้องขายหนีตายก่อนล่ะครับ
ก่อนจะเข้าเรื่อง ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ เดี๋ยวคงต้องขยายความสักหน่อย คำว่า โวลุ่มเข้า ไม่ได้หมายถึง การดูว่า วันนี้ซื้อไปแล้วเท่าไหร่ ขายไปแล้วเท่าไหร่นะครับ ขืนไปดูว่าวันนี้ มีเคาะซื้อหรือเคาะขาย มากกว่ากัน โดนหลอกเละเทะแน่
คำว่า โวลุ่มเข้า ในที่นี้ หมายถึง โวลุ่มเทรดรวม เมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 3 หรือ 5 วันทำการย้อนหลัง นะครับ
ถ้าโวลุ่มไม่เข้า แปลว่า เขายังไม่มา มีแต่พวกเราโซ้ยกันเอง
ดังนั้น หากเราเห็นราคาหุ้นขยับขึ้น แต่เทรดกันไปเพียง 2 แสนหุ้น ก็ให้คิดไว้เหอะว่า เราๆท่านๆนะแหละ ไล่ซื้อกันเอง อย่างนี้ ไปไม่ได้กี่น้ำหรอกครับ
เอาล่ะ เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “โวลุ่มเข้า” ตรงกันแล้ว เราจะเข้าเรื่องต่อ
ในเมื่อทุกวันนี้ เขาใช้กลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ดังนั้น เราก็ควรจะเทรดไปตามแนวโน้มที่มันกำลังจะไปด้วยเช่นกัน ใช่ไหมครับ ต่อให้กราฟออกมาสวยสดงดงามขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเราถือหุ้นเพลิน ในขณะที่เขากำลังขายกัน มันจะเจ็บหนักได้ในภายหลัง กว่าจะรู้ตัวก็ขาดทุนไปมากเชียว
ดังนั้น เมื่อกราฟยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น และทุกแนวต้านที่มันกำลังวิ่งไปทดสอบ เราอาจต้องเพิ่มความสังเกตนิดนึง ว่าเขารินขาย หรือ แอบเก็บ
สังเกตเพิ่มอีกนิดว่า เขาซื้อ 3 ส่วน แล้วตบขู่ด้วยการขาย 1ส่วน หรือ เขาซื้อ 1ส่วน เพื่อหลอกขายไอ้ที่วางไว้ 3 ส่วน
ช่วยสังเกตเพิ่มนิดนึงนะครับว่า ราคาและปริมาณเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน หรือไม่
แล้วทำไมถึงต้องใช้กลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ล่ะครับ
ก็ราคาหุ้นมันเกินมูลค่าที่ควรจะเป็นไปมากนะซิครับ หากวันนี้ เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่ขาย คนอื่นก็ต้องขายใส่อยู่ดี
ดังนั้น การวางแผนการขายจึงเริ่มขึ้น
ขั้นแรก ก็ต้องทำการสะสมหุ้นก่อน ช่วงนี้ ใช้เวลาเป็นไตรมาสนะครับ กว่าจะผูกขาดอำนาจการควบคุมหุ้นของตนมาไว้ในมือได้
หลังจากสะสมหุ้นไว้ในมือของกลุ่มและพรรคพวกมากพอแล้ว ก็จะมีการลากกระชากราคา เรียกร้องความสนใจ ช่วงนี้ โวลุ่มเข้า ราคาขึ้น กราฟสวย นักวิเคราะห์เชียร์ นักลงทุนเริ่มหันมามอง
ขั้นต่อมา จะเริ่มมีการใช้พอร์ตของเจ้าของซื้อหุ้นขึ้นไปต่อเนื่อง เพื่อให้ใครต่อใครรับรู้กันว่า ขนาดเจ้าของยังซื้อเก็บต่อเนื่องเลย มาร์เก็ตติ้งที่อ่อนหัดก็อาจจะเที่ยวไปบอกลูกค้ารายอื่นๆของตนให้ซื้อตาม เพราะเห็นว่าเจ้าของเข้าเก็บ น่าจะมีข่าวดีอะไรบางอย่างในเร็วๆนี้
เมื่อนักวิเคราะห์เชียร์ มาร์เก็ตติ้งเชียร์ โวลุ่มก็เข้า ราคาก็ขึ้น กราฟก็สวย นักลงทุนจะเข้ามาเคาะซื้อบ้าง ตั้งรอซื้อบ้าง กระบวนการหลอกขายของก็เริ่มต้น
บัญชีของเจ้าของอาจจะมีเคาะโชว์ไม้ใหญ่ๆให้เห็นหนึ่งส่วน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ที่รอซื้ออยู่ให้รีบเคาะซื้อแต่โดยไว แต่ในขณะเดียวกัน บัญชีเทรดของกลุ่มและพรรคพวกกำลังวางขายรออยู่ตรงฝั่งออฟเฟอร์ถึง 3 ส่วน
และเมื่อหุ้นที่วางขายอยู่มีคนเคาะซื้อขึ้นไปจนหมด ก็จะเริ่มเติมให้อีก
หมดอีก เติมอีก หมดอีก เติมอีก หมดอีก เติมอีก หมดอีก เติมอีก ไม่รู้จบ
นี่ไงครับ โวลุ่มเข้า แต่ราคากลับแน่นิ่ง ไม่สอดคล้องกับโวลุ่มที่เข้ามาเลย
ในเมื่อคนเคาะซื้อเริ่มเหนื่อยใจ เคาะเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที คนส่วนใหญ่จะเริ่มลังเลที่จะเคาะซื้อแล้วครับ มาวางซื้อที่ฝั่งบิดบ้าง วางซื้อต่ำลงมา 2 ช่องบ้าง 3 ช่องบ้าง
ก่อนที่ไก่จะตื่น ต้องรีบกระทำการใช่ไหมครับ …… ในเมื่อคนเริ่มรู้ทันแล้ว เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะรีรอทำไม เดี๋ยวเขาถอนบิดออกหมดเกลี้ยง จะขายไม่ได้ราคา ….. อย่ากระนั้นเลย ขายทิ้งลงมาเลยยังได้ราคาดีกว่า ขายตอนนี้มีคนมาตั้งรอซื้ออยู่ตั้งเยอะ
แล้วกลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ก็ดำเนินไปตามแผน
ขายลงมาทันที ได้ราคาดีซะด้วย เพราะไล่ราคาขึ้นไปก่อนแล้ว พอราคาลงไปมาก ก็หยุดการขาย เดี๋ยวก็จะมีคนที่อยากได้ของถูกมาตั้งรอซื้ออีก เดี๋ยวก็มีนักเก็งกำไรมาเคาะซื้ออีก …… และเพื่อเรียกความมั่นใจ ต้องมีเคาะโชว์ไม้ใหญ่ๆให้เห็นหนึ่งส่วน แต่ในขณะเดียวกัน บัญชีเทรดของกลุ่มและพรรคพวกก็วางขายรออยู่ตรงฝั่งออฟเฟอร์เช่นกันถึง 3 ส่วน เพื่อบีบให้นักเก็งกำไร บีบให้สิงห์เดย์เทรดเคาะขวา
นี่เป็นอีกกลวิธีในการหาเงินขาลงครับ
กลต. ก็เฝ้าแต่จับหุ้นวิ่งขึ้นอยู่ได้ ไม่ยอมมาจับพวกทุบหุ้นบ้าง ความจริงแล้ว ขาลงก็ทำเงินได้ดีเช่นกัน ได้เงินเร็วกกว่าด้วยซ้ำ และสัดส่วนในการถือครองหุ้นในบริษัทก็ไม่ได้สูญเสียลงไปแต่อย่างใด
เดี๋ยวสมมุติเหตุการณ์ให้ดู ว่าขาลง เขาได้เงินยังไง
หุ้นตัวหนึ่ง มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น มันไม่เท่าไหร่หรอก เขาอาจจะค่อยๆสะสม กวาดซื้อหุ้นขึ้นไปเรื่อยๆ วันละเล็กวันละน้อย โดยไม่มีใครมาสนใจ
ไตรมาสหนึ่งผ่านไป ไวเหมือนโกหก ราคาหุ้นขยับขึ้นจาก 5 บาท ไป 11 บาทกว่าๆ เจ้าของบริษัทและกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็รู้ครับว่าแพงเกินจริงไปมากแล้ว ต้องทำกำไรแล้วล่ะ
สมมุติว่ารายใหญ่ตัดสินใจที่จะเริ่มกลวิธี ขึ้นขายก่อน อ่อนซื้อกลับ ที่ราคา 11 บาท สมมุติตัวเลขน้อยๆพอ สมมุติขายมาแค่ 100 หุ้น ก็จะได้เงินค่าขายกลับคืนมา 1,100 บาท
พอตกลงมา ที่ 8 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 800 บาท ยังเหลือเงินเข้าบัญชีอีก 300 บาท ใช่ไหมครับ
พอหุ้นขึ้นไป 9 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 900 บาท
พอตกลงมา ที่ 6 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 600 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 300 บาท
พอหุ้นขึ้นไป 7 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 700 บาท
พอตกลงมา ที่ 5 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 500 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท
พอหุ้นขึ้นไป 6 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 600 บาท
พอตกลงมา ที่ 4 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 400 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท
พอหุ้นขึ้นไป 5 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 500 บาท
พอตกลงมา ที่ 3 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 300 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท
พอหุ้นขึ้นไป 4 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 400 บาท
พอตกลงมา ที่ 2 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 200 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 200 บาท
พอหุ้นขึ้นไป 2.5 บาท ขาย 100 หุ้น จะได้เงินคืนมา 250 บาท
พอตกลงมา ที่ 1.5 บาท ซื้อคืน 100 หุ้น กลับ เพื่อไม่ให้เสียสัดส่วนการถือครอง ใช้เงิน 150 บาท เหลือเงินเข้าบัญชีเพิ่มอีก 100 บาท
สรุปแล้ว เมื่อสิ้นสุด วงจรอุบาทว์นี้ เจ้าของบริษัทและรายใหญ่ ยังมีหุ้นอยู่ครบ ไม่ได้เสียสัดส่วนการถือครองหุ้นเลย ไม่สูญเสียอำนาจการบริหารกิจการด้วย แถมยังได้เงิน ขาลง มาตลอดทางอีกต่างหาก
เวลาขึ้น จะใช้บัญชีเจ้าของเป็นผู้ซื้อขึ้นครับ แต่เวลาขาย เขาไม่ใช้บัญชีตัวเองขายหรอก พวกเราก็ชอบไปดูกันจังว่า เจ้าของบริษัทซื้อหุ้นตัวเองเข้าพอร์ตหรือยัง ขายหุ้นออกมาหรือไม่ มันบอกอะไรไม่ได้หรอกครับ
มาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะสงสัย ว่า เวลาหุ้นอ่อนตัวลงมาแล้วเจ้าของซื้อกลับขึ้นไป ทำไมไม่เอามาคิดคำนวณด้วย อยากจะบอกว่า การซื้อขึ้นไปหาราคาที่ต้องการจะขาย ไม่มีต้นทุนครับ เพราะไอ้ที่เคาะขวาซื้อๆขึ้นไป ในแต่ละรอบ ก่อนทำการขายจริง มันก็ของเขาทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าจะใช้ชื่อบัญชีไหนวางขายเท่านั้นเอง
ดังนั้น หากท่านเห็นว่าหุ้นหยุดนิ่งอยู่ที่แนวต้าน แม้จะมีโวลุ่มเข้ามาตลอด แต่ราคาก็ตื้อๆ ไม่สามารถขยับขึ้นต่อไปได้ และเมื่อราคานั้นใกล้หมด ก็มีคนเติมขายอีก ท่านรู้แล้วใช่ไหมครับว่าควรทำอย่างไรดี..?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น