2563-08-17

นกพิราบตกงาน ลานท่าแพร้างรก เศรษฐกิจตกต่ำ โควิดเจ้ากรรมทำพิษ (คูเมือง 6)

(คูเมือง 3) (คูเมือง 4) (คูเมือง 5)

ปั่นรถถีบรอบคูเมือง บันทึกเรื่องราวในวันสงกรานต์ ยุคโควิด 19 เรื่อยมาถึงตอนนี้ สิงหาคม 2563 โควิดยังคงไม่จบ ผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 21 ล้านคนไปเรียบร้อย ไทยเรายังโชคดีไม่น้อย มีผู้ติดเชื้อสะสมแค่ 3 พันกว่าราย รัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์เฟส 5 มาได้สักพัก ช่วงนี้เน้นชวนไทยเที่ยวไทย แต่เชียงใหม่ก็ยังคงเงียบเหงา ย่านท่องเที่ยวหลายแห่งแข่งกันติดป้ายให้เช่า หนักเข้าก็ติดป้ายเซ้งหรือขาย วนผ่านไปคูเมือง เริ่มเห็นมีชาวต่างชาติไปเซลฟี่แถวท่าแพ ทีแรกก็ดีใจ แต่พอนึกขึ้นได้ ก็เริ่มสงสัย ว่าเป็นฝรั่งแถวนี้ หรือจะมีแอบหลบ State quarantine มาบ้างหรือไม่

แหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง ได้รับความนิยมเฉพาะในกลุ่มชาวต่างชาติ อย่างคนจีนก็นิยมเดินคูเมือง ย่านกาดหลวง วัวลาย หรือนิมมานฯ ส่วนฝรั่งจะค่อนหนักไปทางลอยเคราะห์ ท่าแพ ไนท์บาร์ซาร์ ที่เที่ยวก็จะกระจัดกระจายรายล้อมคูเมือง เรื่องรสนิยมการเที่ยวแต่ละชาติก็จะต่างกันไป เพื่อนคนไทยชวนกันมาเที่ยว ส่วนน้อยนักจะไปเดินเซลฟี่รอบคูเมือง จะมีบ้างก็มุมบังคับ ถ่ายกับประตูท่าแพ มีดอยสุเทพเป็นฉากหลัง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ประตูท่าแพเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อายุน้อยที่สุด หากเทียบกับประตูเมืองชั้นใน ชั้นนอก และน้อยสุดหากเทียบกับคูเมืองเชียงใหม่

คูเมืองอายุเท่าเมืองเชียงใหม่คือ 724 ปี แต่แจ่งเมืองบูรณะใหม่ สมัยพระเจ้ากาวิละ พ.ศ. 2344 ปัจจุบันอายุ 219 ปี ประตูเมืองทั้ง 5 รอบคูเมืองเชียงใหม่ล้วนเป็นสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ โดยประตูทั้ง 4 ได้แก่ประตูเชียงใหม่ ประตูหายยา ประตูสวนดอก และประตูช้างเผือก เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2490 ก็พอๆ กับปีเกิดของลุงอาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ อดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือคุณป้าอาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาล อายุเท่ากันคือ 73 ปี ยังไม่มีใครเรียกลุงกับป้าว่าเป็นคนโบราณ ดังนั้นประตูเมืองที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้ ก็ยังมิน่าจะใช่โบราณสถาน

ประตูเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ มิได้ยึดหลักฐานจากรูปแบบ หรือประตูเมืองโบราณใดๆ อิฐปูนที่ก่อขึ้นเพียงเพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และรากเหง้าของผู้คนพื้นถิ่นนี้ โดยเฉพาะประตูท่าแพน้องใหม่ เพิ่งสร้างได้เมื่อปี พ.ศ. 2528 ยังหนุ่มยังแน่นด้วยวัยเพียง 35 ปี วันที่เค้าก่ออิฐฉาบปูนกัน เริ่มเป็นเด็กโตพอรู้ความ จำได้ว่าช่วงนั้นเรียนอยู่ชั้นประถม คุณครูให้ท่องชื่อของผู้ว่าราชการจังหวัด ยังจำได้ถึงบัดนี้ว่าท่านคือ นายชัยยา พูนศิริวงศ์ บุคคลผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดประตูท่าแพ แลนด์มาร์คสำคัญที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกแย่งกันมาเช็คอิน

อดีตผู้ว่าฯ ชัยยา ท่านเป็นอดีตสถาปนิกและผู้อำนวยการสำนักผังเมืองฯ ท่านได้ผลักดันโครงการสร้างประตูท่าแพฝ่ากระแสดรามาในยุคนั้นขึ้นมา โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรถอดแบบประตูเมือง ออกมาจากภาพถ่ายโบราณประตูเมืองเชียงใหม่ ประตูท่าแพจึงเป็นประตูเดียวที่ถูกก่อสร้างขึ้นโดยยึดรูปแบบจริง แม้ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นประตูเมืองทิศใด และจำเป็นต้องลดขนาดและความสูงใหญ่ลงมา เพื่อให้เข้ากับสภาพบ้านเมืองในยุคปัจจุบัน แต่ชาวเชียงใหม่ก็ภาคภูมิใจที่ได้ร่วมลงขันกันสร้างขึ้น โดยไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐเลยแม้แต่น้อย

ประตูท่าแพ เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นประตูทางผ่านของเจ้าเมือง เดิมชื่อว่าประตูเชียงเรือก แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่าประตูท่าแพ ว่ากันว่าเป็นเพราะประตูมุ่งหน้าสู่แม่น้ำปิง ศูนย์กลางการค้าขายที่มีท่าน้ำเรือแพจอดอยู่จำนวนมาก ประตูท่าแพจึงไม่เคยปิด เพราะเป็นประตูเศรษฐกิจ เปิดกว้างไว้เป็นเคล็ดให้ธุรกิจเมืองเชียงใหม่เจริญก้าวหน้า ก็ได้แต่หวังว่า สถานการณ์โควิด จะคลี่คลายโดยไว อยากเห็นนักท่องเที่ยวจีนใส่ชุดสวยๆ มาถ่ายพรีเวดดิ้ง รอฝรั่งมาวิ่งออกกำลังกายรอบคูเมือง นกพิราบวอร์มเครื่องซ้อมบินเข้าฉากโฉบไปมา คล้ายจะบอกว่ารีบกลับมานะ เรายังคอย ...

ไม่มีความคิดเห็น: