2558-01-16

ถอดรหัสตลาดหุ้น 7 เกาะไปกับ Fund Flow

... ไปพบบทความ ทั้งหมด 17 ตอนในพันทิป กระทู้คุณเจ็ดกระบี่เทวดา .. อ่านแล้วชอบมาก คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับหลายๆท่าน ขออนุญาตนำมาแชร์ต่อครับ ...

ถอดรหัสตลาดหุ้น #7 เกาะไปกับ Fund Flow
ที่มา : ThaiDayTrade, credit : boardthai.net/jadetjomjone

"ตอนที่เริ่มสตาร์ท ผมลงเงินไป 500,000 บาท ตอนนั้นเลือกหุ้นที่คิดว่ามี "ราคาถูก" ผมจะซื้อหุ้นที่ราคาตกลงมามากๆ เลือกหุ้นที่มี พี/อี เรโช ต่ำ และซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพาร์ เพราะเราคิดว่าราคาถูก เล่นช่วงแรกเจ๊งมาตลอดจนเหลือเงินอยู่ 180,000 บาท สุดท้ายต้องกลับมาทบทวนใหม่แล้วค่อยๆ เรียนรู้ ถ้ามัวแต่ยึดข้อมูลในอดีต สักวันคงหมดตัวแน่!!!" …….. ท.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม เศรษฐีหุ้นพันล้าน

มวลชนมักจะเลือกซื้อหุ้นถูก ดักซื้อ รอเก็บ เพราะคาดว่า เดี๋ยวมันจะขึ้น

นักวิเคราะห์ก็ออกมาการันตีว่าปัจจัยพื้นฐานดี เราก็อุ่นใจ ใช่ไหมครับ ว่าเดี๋ยวคงจะขึ้น

ส่วนหุ้นเก็งกำไรที่มันลงมาแรงแล้ว เราก็เข้าเก็บเหมือนกัน ด้วยความหวังว่า เดี๋ยวมันคงจะขึ้น

หุ้นที่มีพื้นฐานดี หรือ หุ้นเก็งกำไร ล้วนแต่ราคาลงมามากแล้วทั้งนั้น ดังนั้น เราดักซื้อรอไว้ มันก็น่าจะขึ้น

อย่างที่บอกไว้ในตอนก่อนล่ะครับ ยังไงมันก็ไม่ขึ้นหรอก หากโชเฟอร์ยังหลับอยู่

ทำไมไม่ดูรถที่มีโชเฟอร์สตาร์ทรอจนเครื่องร้อนแล้ว และโชเฟอร์กำลังจะออกรถล่ะครับ


จริงๆแล้ว เซียนหุ้นทั้งหลาย ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ ว่าหุ้นตัวนั้นพื้นฐานดี หรือ หุ้นตัวนั้น เก็งกำไร เขาเลือกตัวที่มันกำลังจะวิ่ง หรือ เพิ่งวิ่ง กันทั้งนั้น

หุ้นที่ดีในมุมมองของคนเล่นหุ้น ควรจะเป็นหุ้นที่เข้าซื้อแล้วมีกำไร อย่าเกี่ยงเลยว่าหุ้นตัวนั้น พื้นฐานดี หรือ หุ้นตัวนั้น เป็นหุ้นปั่น เพราะนักลงทุนจำนวนมากในตลาด ก็ล้วนเคยมีผลขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีมาแล้วทั้งสิ้น

เพราะการลงทุนในหุ้นที่เราสมมุติกันว่า มีปัจจัยพื้นฐานดี มันก็คือ การเก็งกำไรเหมือนกันล่ะครับ เพียงแต่ว่า มันเป็นการเก็งกำไรจากการเก็งมูลค่ากิจการโดยนักวิเคราะห์ ในขณะที่การเล่นหุ้นเก็งกำไรเป็นการเก็งกำไรจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าหุ้นตัวนั้นๆโดยนักเล่นหุ้นในตลาด ณ ขณะนั้น หรือที่เรียกให้ดูแย่หน่อยว่า หุ้นปั่น

แต่จะวิเคราะห์แบบไหน ก็เก็งกำไรทั้งนั้นแหละ ไม่งั้น จะกำหนดราคาเป้าหมาย ราคาที่ควรจะเป็นไปทำไม การกำหนดเช่นนั้น ก็คือการเก็งอยู่ดีนะแหละว่า ถ้าคุณซื้อที่ราคานี้ คุณน่าจะขายได้ที่ราคานั้น

คนที่เข้ามาในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่ก็หวังส่วนต่างราคา คาดว่าจะขายได้แพงกว่าราคาที่ตนซื้อมากันทั้งนั้น มีเพียงส่วนน้อยครับ ที่เข้ามาลงทุนระยะยาว เพื่อหวังเพียงเงินปันผล

ดังนั้น หากท่านตกลงปลงใจแล้วว่าจะเข้ามาหากำไรจากส่วนต่างราคา ก็เชื่อว่า หนังสือที่ท่านถืออยู่นี้ จะช่วยปรับปรุงการเทรดของท่านให้ดีขึ้นได้แน่นอน

นี่ ไม่ได้หมายถึง เราสนับสนุนหุ้นปั่นนะครับ แต่ต่างชาติหรือกองทุน หรือ เราๆท่านๆ ซื้อหุ้นก็หวังกำไรกันทั้งนั้น

เก็งว่า รายได้จะเป็นไปตามเป้า เก็งว่าผลประกอบการน่าจะดีขึ้น เก็งว่าต้นทุนน่าจะลดลง เก็งว่าน่าจะได้งานประมูลโครงการใหญ่เข้ามา เก็งว่าต่างชาติจะมาร่วมทุน เก็งว่าราคาขายน่าจะปรับตัวดีขึ้น

ถ้าไม่เก็งกำไร แล้วหุ้นขนาดใหญ่ ราคาตัวละ 100 หรือ 200 บาท จะวิ่งขึ้นไปได้ยังไง วันละ 5% หรือ 8% ทั้งๆที่ ยังไม่รู้เลยว่า รายได้ทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ ผลประกอบการปลายปีจะดีขึ้นจริงหรือไม่ แม้กระทั่งราคาขาย ก็ประเมินยากว่าจะเป็นยังไงต่อไปในอนาคต เพราะราคาของผลิตภัณฑ์บางอย่าง มันแปรไปตามตลาดโลกเป็นหลัก

มันก็เก็งกำไรกันทั้งนั้นแหละ

เพียงแต่หุ้นตัวไหนที่นักวิเคราะห์อธิบายได้ว่ามันขึ้นเพราะอะไร ก็จะเรียกว่าหุ้นพื้นฐานดี หุ้นตัวไหนหาเหตุมาใส่ผลไม่ได้ ก็จะเรียกว่า หุ้นปั่น

แล้วการที่หุ้นขนาดใหญ่ มีแรงซื้อเข้ามามาก ออกอาการวิ่งขึ้นพรวดๆ ซึ่งเกิดจากการใช้เงินกวาดซื้ออย่างรวดเร็วและรุนแรงภายในวันเดียว ไม่เรียกว่าปั่นหรือครับ ไม่เรียกว่าเก็งกำไรหรือครับ หรือ ปัจจัยพื้นฐานของกิจการสามารถดีวันดีคืนทันตาเห็นภายในเวลาแค่วันเดียว

การวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐาน ก็มีรากฐานแก่นแท้ มาจากการเก็งกำไรเหมือนกัน เพียงแต่เรียกให้ดูดีในคำที่แตกต่างกันไป เช่น เรา Estimate ว่า, เรา Forecast ว่า, เรา project ว่า, เรา think ว่า, เรา evaluate ว่า, เรา calculate ว่า, เรา appraise ว่า, เรา compute ว่า ……

จริงๆแล้ว ก็คือ เรา Guess ว่า … นั่นเอง เพราะโลกของความเป็นจริง ใครจะมาทำนายทายได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าเป็นปีๆ เพียงแต่การวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐาน มันดีกว่าการเดาสุ่มแทงสูงต่ำ เพราะเป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานที่มีหลักมีเกณฑ์

เห็นบางทีให้ ราคาเป้าหมาย 12 เดือน เท่านั้นเท่านี้ พอหุ้นร่วงลงมา “เรายังคงคำแนะนำซื้อด้วยราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้” พอหุ้นร่วงลงอีก นักวิเคราะห์ก็มาบอกอีก “เรายังคงคำแนะนำให้ซื้อด้วยราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้” พอหุ้นร่วงลงสุดๆ นักวิเคราะห์ก็เปลี่ยนคำแนะนำ “อ้อ โทษที เราปรับประมาณการรายได้ลงมาแล้ว เราแนะนำขาย ปรับราคาเป้าหมายลงเหลือ xxx บาท” แป่ววววววว! นี่ก็แสดงว่า เก็งกำไรผิดแล้วนะซิ

ในเมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะเกี่ยงไปทำไมครับว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นพื้นฐาน หุ้นตัวไหนเก็งกำไร

ก็ตัวไหนมันจะวิ่งขึ้น เราก็ซื้อตัวนั้น ไม่ดีกว่าหรือครับ

อ้าว แล้วเราจะรู้ได้ไงล่ะว่าหุ้นตัวไหนจะขึ้น

ผมไปเจอคุณอาคนนึงในห้องค้า แกบอกว่า แกไม่เชื่อใครทั้งนั้น แกวิเคราะห์เอง ว่าแล้ว แกก็วางฟอร์มว่ามีคามรู้ ขอข้อมูลมหาศาลจากทางโบรกเกอร์ เพื่อมาวิเคราะห์หุ้น กว่าท่านจะวิเคราะห์เสร็จ ราคาหุ้นก็ไปไหนต่อไหนแล้วครับ

ถ้าท่านอยากประสพความสำเร็จ อย่าทำเป็นเก่งมาวิเคราะห์หุ้นเอง นอกเสียจากท่านจะมั่นใจว่า ท่านมีความสามารถในการวิเคราะห์บริษัทนั้นๆได้ดีกว่าต่างชาติ กองทุน รายใหญ่ และนักวิเคราะห์

ขนาดกองทุนต่างชาติ ยังต้องมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาประจำในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเลย แล้วท่านจะเก่งขนาดไหนครับ ถึงจะสามารถประมาณภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราการเจริญเติบโตของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และ ราคาน้ำมัน ในอนาคต ได้แม่นยำกว่าเขา

ถ้าท่านบอกว่า ท่านวิเคราะห์กิจการเป็น คำถามคือ ท่านสามารถประมาณการความต้องการสินค้า และ อัตราการเจริญเติบโตในอุตสาหกรรมนั้นๆได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า ท่านสามารถประมาณการจำนวนยอดขายและราคาขายในอนาคตได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า

ท่านสามารถประมาณการต้นทุนการผลิตในสินค้าแต่ละประเภท ในทุกๆองค์ประกอบของต้นทุนการผลิตได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า และ ท่านยังคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหารได้แม่นยำกว่าเขาอีกด้วยหรือเปล่า

และกว่าที่ท่านจะวิเคราะห์เสร็จ ราคามันไม่ไปไหนต่อไหนแล้วหรือครับ

ก่อนกองทุนไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศก็ตาม จะใส่เม็ดเงินลงทุนในหุ้นแต่ละตัว เป็นพันล้าน หรือ หลายพันล้าน เขาไม่ใช่ไร้สตินะครับ เขาวิเคราะห์ดีกว่าเรา เขามีทีมงาน ข้อมูล และเครื่องมือ ที่สมบูรณ์ครบถ้วนมากกว่าเรา และถ้าเขาวิเคราะห์ผิด กองทุนเขาเสียหายมากกว่าเราเยอะ

รายใหญ่ หรือ เจ้าของกิจการ ก็เช่นกันครับ ก่อนที่เขาจะอัดฉีดเม็ดเงินหลายร้อยล้านเข้าไปในหุ้นเก็งกำไร เขาต้องเช็คกราฟ เช็คข้อมูลภายใน จนเป็นที่แน่นอนแล้ว หรืออาจขอให้นักวิเคราะห์ไปวิเคราะห์มาให้เสร็จสรรพแล้ว เขาถึงจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามา

ก็ในเมื่อมันเป็นเช่นนี้ ทำไมเราจะไม่เกาะติดรายใหญ่ที่เขาทำการบ้านมาดี เกาะติดเม็ดเงินเขาไปล่ะครับ จะมาทำเก่ง นั่งวิเคราะห์พื้นฐานกิจการเองอยู่ทำไม ด๊อกเตอร์ทางการเงินเจ๊งมามากต่อมากแล้ว จริงๆนะครับ

ถ้าช่วงนี้ กองทุนต่างชาติเห็นแนวโน้มปิโตรเคมีดี ท่านจะไปดักซื้อกลุ่มธนาคารนั่งรอทำไมล่ะ ถ้าราคาน้ำมันมีแนวโน้มพุ่ง แต่ไปซื้อดักรอในหุ้นกลุ่มรับเหมาก็คนละเรื่อง ถ้ารถคันนี้จะออก ท่านกลับไปหาขึ้นรถเมลล์ที่มีที่นั่งว่างอยู่เพียบ แล้วเมื่อไหร่ท่านจะได้ออกจากท่ารถล่ะครับ

ถ้าท่านจะขายซีดี ก็คงต้องดูว่า ช่วงนี้เขาฮิตอะไร ถึงราคาต้นทุนจะแพงหน่อย ก็ดีกว่าเพลงไทยเดิมต้นทุนต่ำ แต่ไม่รู้จะไปขายใคร ใช่ไหมครับ

หุ้นก็เหมือนกัน ดูสักนิดนึงว่าเม็ดเงินทะลักเข้าไปเล่นกลุ่มไหนกันอยู่ ไม่งั้น ตกรถแน่ แล้วยังชอบมาหลอกตัวเองอีกนะ คนเรา ว่าเดี๋ยวมันก็คงจะมา

มีนักลงทุนฟูลไทม์ อยู่ 2 ท่าน ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นความต่าง ท่านแรกเคยเป็นนักวิเคราะห์มือดีของโบรกเกอร์ดังแห่งหนึ่ง รอบรู้สารพัดที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้น ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นเซียนหุ้นหลายร้อยล้าน ผู้ชำนาญในการทำกำไร

ท่านแรก ก็อยู่ในตลาดมาพอสมควร โดยเริ่มจากการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ วิธีการเล่นหุ้นของท่านก็คือ ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้นตัวไหน ท่านจะทำการศึกษากิจการของบริษัทมาเป็นอย่างดี แล้วค้นหารายชื่อผู้ถือหุ้น อ่านดูนโยบายบริษัทและนโยบายเงินปันผล แล้วทำการวิเคราะห์งบการเงิน แล้วเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงิน เพื่อให้ทราบแนวโน้ม แล้วทำประมาณการกำไรขาดทุนจากการดำเนินงาน จากนั้นทำการประมาณการกระแสเงินสด เพื่อคำนวณหามูลค่ากิจการ เมื่อได้มูลค่ากิจการแล้ว จึงนำเอาจำนวนหุ้นมาหาร ผลลัพธ์ที่ได้คือ ราคาที่ควรจะเป็นต่อหุ้น

ปรากฏว่า เมื่อท่านได้ราคาที่ควรจะเป็นออกมาแล้ว กลับทำใจซื้อไม่ลงอีก เพราะมีคนลุยซื้อไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จนราคาขึ้นไปมาก สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็นไปซะแล้ว ท่านเลยต้องเริ่มต้นทำการศึกษาหาหุ้นตัวอื่นแทน

ท่านที่สองคือ เสี่ย ม. ขออภัยที่ต้องพาดพิง …… เสี่ย ม. มีประสบการณ์สูงในตลาด ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ท่านเป็นประเภท “Low profile, High Profit” ไม่โอ้อวด ไม่ขี้โม้ ชอบเก็บตัวอยู่ในห้อง VIP เล็กๆ แต่เก็บโกยกำไรมหาศาล แปลงตลาดหุ้นเป็นเครื่อง ATM ส่วนตัว วันแล้ววันเล่า …… ในช่วงตลาดดีๆ เทรดไปได้ กว่าพันล้านบาทต่อเดือน

กลยุทธ์หลักของ เสี่ย ม. คือ “ยิ่งขึ้น ยิ่งซื้อ” ซึ่งความจริงแล้ว ก็เป็นกลยุทธ์เดียวกันกับเสี่ยพันล้านทั้งหลายที่เคยเรียนร่วมชั้นกันมา ไม่ว่าจะเป็น เสี่ย “ย.” หรือ เสี่ย “ป.” ผู้โด่งดัง

แต่ดูเหมือนว่า กลยุทธ์นี้ จะตรงข้ามกันสุดโต่งกับวิธีการเล่นของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น

คนสติปัญญาน้อยๆอย่างผมก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นอีกปัจจัยนึงหรือเปล่า ที่ทำให้ เซียนต้น นักลงทุนรุ่นเยาว์ เศรษฐีหุ้นฟูลไทม์อายุ 29 สรุปว่า

“คนเล่นหุ้นเจ๊งมีมากกว่าคนเล่นหุ้นแล้วรวย คนส่วนใหญ่ ชอบเข้าซื้อหุ้นตอนที่เขาเลิกเล่นกันหมดแล้ว เพราะมีความรู้สึกว่า ซื้อได้ถูกลง”

แต่ที่แน่ๆ เสี่ยทั้งหลายใช้กลยุทธ์นี้กัน ทุกคน ไม่มียกเว้น

ไม่มีความคิดเห็น: