2563-12-08

ม่วนงันสันเล้า แอ่วกว๊านพะเยา ใช้สิทธิ์ “เราเที่ยวด้วยกัน” (พะเยา 1)

กรกฎาคม 2563 ประเทศไทยสุดฟิตวิบวับ ควบคุมโควิดอยู่หมัด แต่ธุรกิจเงียบสงัด รัฐบาลต้องงัดกลยุทธ์ มากระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังประสบภาวะโคม่า หมัดแรกพุ่งตรงเป้าธุรกิจท่องเที่ยวทั่วประเทศที่กำลังซบเซา “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” รัฐช่วยค่าโรงแรมร้อยละ 40 จ่ายเอง 60 แถมคูปองกินเที่ยวด้วยกันอีกวันละ 900 บาท จ่าย 40/60 เช่นกัน เพียงใช้จ่ายกับร้านที่ร่วมโครงการ ผ่านแอป “เป๋าตัง” โจทย์ง่ายๆ ปังๆ แค่นี้จะพลาดได้ไง เที่ยวไหนก็ได้ที่ไม่ใช่จังหวัดในทะเบียนบ้าน เก็บกดมานาน กางแผนที่แล้วไปใช้สิทธิ์กัน



ใกล้ๆ เชียงใหม่ มองไปทางใต้ก็เริ่มเบื่อ มองเอียงๆ ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือกันบ้าง พะเยาบรรยากาศดี ขับรถก็ไม่ไกล สมัยเรียน แว้นมอเตอร์ไซค์ไปกลับในวันก็เคยมี แค่คิดเล่นๆ ภาพความทรงจำเมื่อ 25 ปีก่อนก็เริ่มโผล่มาหยอกเย้า ไอ้หนุ่มผมยาวสะพายกีตาร์ซิ่งมอเตอร์ไซค์ไปนั่งร้องเพลงอยู่ริมกว๊าน สมัยไปฝึกงานที่พะเยา แว่วเพลงพะเยารอเธอยังไม่ทันจบ ก็เผลอคลิกไปจองโรงแรมซะแล้ว พะเยาเกทเวย์ โรงแรมเก่าแก่ระดับตำนาน ตั้งอยู่ไม่ไกลกว๊าน มีฟิตเนส สระว่ายน้ำ ที่สำคัญคือเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 


วันพักผ่อนไม่ต้องรีบตื่นเช้า ทานข้าวเที่ยงเสร็จ ค่อยเอิงเอยออกจากเชียงใหม่ ขึ้นเหนือไปทางเชียงราย ถนนยังไม่เสร็จไม่เป็นไร ดมฝุ่นลุยโคลนตามกันไป ขับสบายๆ บ่ายแก่ๆ ก็ถึงพะเยา เข้าเช็คอินโรงแรมพะเยาเกทเวย์ก่อน เพื่อรับคูปอง 900 บาท จาก “เราเที่ยวด้วยกัน” จากนั้นทำหน้าที่ผู้มาเยือนที่ดี ไปไหว้พ่อเมืองพะเยาก่อน อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง ตั้งตระหง่านอยู่ริมกว๊าน ตำนานเล่าว่าเมื่อพระองค์เสด็จ ไปทางไหน "แดดก่อบะฮ้อน ฝนก่อบะฮำ จักหื้อบดก่อบด จักหื้อแดดก่อแดด" จึงได้รับ พระนามว่า "งำเมือง"


พระยางำเมืองเสด็จไปไหน แดดก็ไม่ร้อน ฝนก็ไม่ตก จะให้ฟ้าครึ้มก็ได้ จะให้แดดออกก็ได้ คนเชียงใหม่จะคุ้นเคยกันดีกับพระนามพ่อขุนงำเมือง เพราะพระองค์เป็นหนึ่งในสามกษัตริย์ ที่ได้กระทำสัตย์สาบานเป็นไมตรีกับพญามังรายแห่งนครเชียงใหม่ ร่วมกันสร้างอาณาจักรล้านนาและเมืองเชียงใหม่ ดังปรากฏอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตั้งตระหง่านอยู่กลางเวียงเชียงใหม่ โดยพญามังรายประทับกลางเป็นประธาน พระยางำเมืองประทับอยู่เบื้องขวาของพญามังราย พญาร่วงหรือพ่อขุนรามคำแหง ประทับอยู่เบื้องซ้าย


สิ้นยุคพระยางำเมือง พะเยาถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา โดยเป็นเมืองที่ขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงราย ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ได้ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมือง แล้วเปลี่ยนเป็นอำเภอพะเยา ย้ายมาขึ้นอยู่กับจังหวัดลำปางแทน จนมาในปี พ.ศ.2520 รัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะอำเภอพะเยาขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา จังหวัดที่มีทะเลสาบน้ำจืดกว้างใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และแน่นอนว่า ที่ใดมีแหล่งน้ำ ที่นั่นมักมีเรื่องเล่าตำนานพญานาคอยู่เสมอ พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำอิง อย่างเมืองพะเยานี้ก็เช่นกัน


บึงเล็กๆ เรียก “บวก” บึงใหญ่ๆ เรียก “หนอง” พะเยามีบวกมีหนองมากมาย หนองใหญ่สุด คือ “หนองเอี้ยง” ชาวบ้านเชื่อกันว่า ในบรรพกาลพระโพธิสัตว์เคยเสวยพระชาติเป็นนกเอี้ยง อาศัยอยู่บนดอยจอมทอง และบินมาดื่มอาบหนองน้ำแห่งนี้ทุกวัน จึงเรียกติดปากกันมาในชื่อหนองเอี้ยง โดยหนองน้ำนี้มีพญานาคนามว่า “พญาธุมะสิกขี” เป็นเจ้าผู้ครองหนอง เรื่อยมาจนถึงยุคพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาฉันภัตตาหาร ริมหนองเอี้ยงแห่งนี้ เมื่อฉันเสร็จ พระอานนท์จะลงไปตักน้ำมาถวาย พญานาคเจ้าถิ่น ก็ได้เข้าทำการขัดขวาง

พระพุทธเจ้าจึงแสดงปาฏิหาริย์ เนรมิตร่างกายใหญ่โตให้ประจักษ์ พญาธุมะสิกขีจึงเกิดความเลื่อมใส ถวายตนรับใช้พระศาสนา พระพุทธเจ้าจึงได้สั่งว่าอีก 5 พันปี ให้มาสร้างรากฐานพระพุทธศาสนาไว้ที่นี่ พอครบ 5 พันปี พญาธุมะสิกขี ก็ได้แปลงร่างเป็นคนนุ่งขาวห่มขาว ไปเล่าให้สองตายายที่อาศัยอยู่ริมหนองฟัง พร้อมกับมอบทองคำจากเมืองพญานาคให้ตายายนำไปสร้างพระพุทธรูป กลายเป็น “พระเจ้าตนหลวง” พระคู่บ้านคู่เมืองพะเยา ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีโคมคำ ดังนั้น เมื่อมาถึงพะเยาอย่าลืมแวะไปถ่ายรูปเช็คอินกับพญานาคริมกว๊านด้วย เพื่อนจะได้รู้ว่าคุณมาถึงพะเยาแล้ว 
 


ไม่มีความคิดเห็น: